“ฟันโยก ฟันคลอน ในผู้สูงอายุ” อีกหนึ่งสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม!!

Jun3 ฟันโยก ฟันคลอนในผู้สูงอายุ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลักษณะอาการของ “ฟัน” ที่มี “การขยับได้“ ซึ่งผิดไปจากปกตินั้น ถือเป็นอีกสัญญาณเตือนว่าเหงือกและฟันของเรากำลังมีปัญหาค่ะ หากพบว่าฟันโยกมาก ก็แปลว่า “ฟันซี่นั้น มีโอกาสหลุดออกได้“ โดยเราสามารถสังเกตได้ขณะแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือทันตแพทย์เป็นผู้ตรวจพบ

สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดฟันโยกในผู้สูงอายุ

โรคปริทันต์อักเสบ (โรครำมะนาด)

การมีคราบพลัคหรือหินปูนอยู่เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้เหงือกเกิดการอักเสบ หากทิ้งไว้เป็นเวลานาน การอักเสบจะลุกลามไปถึงกระดูกที่รองรับรากฟันทำให้กระดูกละลาย และส่งผลให้ฟันโยกได้

การติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน

สามารถทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบปลายรากฟัน สามารถทำให้เกิดอาการปวดฟัน และอาจมีอาการบวมหรือมีตุ่นหนองที่เหงือก และสามารถเกิดอาการโยกของฟันร่วมด้วย

การสบฟันหรือพฤติกรรมการบดเคี้ยวที่ผิดปกติ

ส่งผลให้ฟันได้รับแรงสบฟันที่มากเกินไป และเกิดการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะรอบฟัน และทำให้เกิดฟันโยกได้

อุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณช่องปากหรือใบหน้า เช่น หกล้ม การเล่นกีฬาบางประเภท เช่น การชกมวย ทำให้ฟันที่ได้รับแรงกระแทกนั้นโยกได้

ซึ่งหากเราพบว่า “ฟันโยก“ แอดก็ขอแนะนำว่าควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาให้ตรงจุดจะดีที่สุดนะคะ

ผศ.ทพญ.พิมพ์ชนก สุทธิบุณยพันธ์ และ อ.ทพญ.ดร.วิชญา วิศิษฐ์รัศมีวงศ์
อาจารย์ประจำภาควิชาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย