ทันตกรรมชุมชน

Community Dentistry

งานวิจัยเด่น

ภาควิชาทันตกรรมชุมชนดำเนินงานวิจัยที่สำคัญในหลายด้านของทันตแพทยศาสตร์ ครอบคลุมทั้งการป้องกัน รักษา และส่งเสริมสุขภาพช่องปาก การพัฒนาสื่อการสอน และการวางนโยบายสาธารณสุข โดยมีงานวิจัยเด่นดังนี้:

  • งานวิจัยทางระบาดวิทยา ได้แก่ การศึกษาการกระจายและปัจจัยเสี่ยงของรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปากในประเทศไทย การวิเคราะห์คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพช่องปากในเด็กก่อนวัยเรียนและวัยเรียน
  • งานวิจัยด้านทันตกรรมป้องกัน ได้แก่ การศึกษาประสิทธิภาพของซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (SDF) ในการควบคุมฟันผุ การสำรวจความรู้ พฤติกรรม และความรอบรู้ทันตสุขภาพในกลุ่มอายุต่าง ๆ การประเมินผลโครงการสร้างเสริมทันตสุขภาพในเด็กปฐมวัย
  • งานวิจัยด้านเทคโนโลยีทันตกรรม ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชัน myRisk สำหรับประเมินความเสี่ยงฟันผุ แอปพลิเคชัน Tooth Memo สำหรับบันทึกข้อมูลสุขภาพช่องปาก Thai Teledentistry แพลตฟอร์มปรึกษาทางไกลผ่านข้อความและวิดีโอ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และการตรวจคัดกรองทางทันตกรรม
  • งานวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุข ได้แก่ การวิเคราะห์แนวโน้มฟันผุในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุไทย การศึกษาผลกระทบของภาษีน้ำตาลต่ออัตราการเกิดโรคฟันผุ การวางแผนทรัพยากรบุคคลทางทันตสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • งานวิจัยกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ การศึกษาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพช่องปากและการเข้าถึงบริการในกลุ่มอพยพชาวเมียนมาร์ การประเมินสุขภาพช่องปากในกลุ่มเด็กตาบอด การศึกษาสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ

งานวิจัยเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของภาควิชาในการพัฒนาความรู้และแนวทางปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างยั่งยืน

โครงการวิจัยที่ดำเนินการ

ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากและให้บริการทันตกรรมในโรงเรียนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ครอบคลุมโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายใต้โครงการนี้ประกอบด้วยการตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ และการรักษาทางทันตกรรมที่จำเป็นบางประเภทแก่เด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ดำเนินการโดยนิสิตทันตแพทย์ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์

เพื่อประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบของโครงการ การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากและการให้บริการทันตกรรมในโรงเรียน” จึงถูกนำมาใช้ โดยอาศัยการประเมินผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คำนึงถึงประโยชน์ในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) ทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างครอบคลุมและสะท้อนคุณค่าทางสังคมที่แท้จริง

ทั้งนี้ ผลการประเมินจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร การดำเนินโครงการต่อเนื่อง และการขยายโครงการได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้น