คำแนะนำสำหรับการตรวจสุขภาพช่องปากของวัยผู้ใหญ่-วัยทำงาน (20-59ปี)

สุขภาพช่องปากไม่ใช่แค่เรื่องของรอยยิ้มสวย แต่เป็นประตูสู่สุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตของคนวัยทำงานโดยตรง การละเลยปัญหาเล็กๆ ในช่องปาก อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบทั้งสุขภาพกาย การทำงาน และเงินในกระเป๋าได้

ทำไมสุขภาพช่องปากจึงสำคัญกับวัยทำงาน?

  • กระทบสุขภาพกายโดยตรง:
    ปัญหาในช่องปาก เช่น โรคเหงือก และโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษามีความเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  • กระทบต่องานและคุณภาพชีวิต:
    อาการปวดฟัน หรือปัญหาช่องปากอื่นๆ ทำให้เสียสมาธิ ลดทอนประสิทธิภาพการทำงาน และบั่นทอนความสุขในชีวิตประจำวัน
  • กระทบเงินในกระเป๋า:
    การป้องกันมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาที่ซับซ้อนและราคาแพงในอนาคตอย่างมหาศาล
ทำไมสุขภาพช่องปากจึงสำคัญกับวัยทำงาน
ทำไมสุขภาพช่องปากจึงสำคัญกับวัยทำงาน

น่าตกใจ: ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าสถานการณ์สุขภาพช่องปากของคนไทยในวัยทำงานวัยทำงาน มีฟันผุสูงถึงร้อยละ 91.8  และ ร้อยละ 43.3 ไม่เคยได้รับการรักษา  สภาวะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่สำคัญระหว่างการรับรู้ถึงปัญหาและการเข้าถึงการรักษา ซึ่งอาจมีปัจจัยจากข้อจำกัดด้านเวลา ค่าใช้จ่าย หรือทัศนคติที่มักรอให้เกิดอาการเจ็บปวดก่อนจึงจะไปพบทันตแพทย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของคนวัยทำงานที่มีภาระหน้าที่รัดตัว

การตรวจสุขภาพช่องปาก: ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?

  • บุคคลทั่วไป:
    ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและขูดหินปูนเป็นประจำ ทุก 6-12 เดือน  เพื่อตรวจหาความผิดปกติในระยะเริ่มต้น 
  • กลุ่มเสี่ยงสูง:
    ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยปากแห้งเหตุจากน้ำลายน้อยหรือผู้มีประวัติโรคปริทันต์อักเสบ ควรพบทันตแพทย์บ่อยขึ้น ทุก 3-4 เดือน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน:
    ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่สูบบุหรี่:
    การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของมะเร็งช่องปาก แต่ยังเป็นปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคปริทันต์อักเสบด้วย
  • ผู้ป่วยปากแห้งเหตุจากน้ำลายน้อย:
    ภาวะน้ำลายน้ำน้อย เป็นปัจจัยส่งเสริมการก่อโรคติดเชื้อในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ การติดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น
การดูแลสุขภาพช่องปากของวัยทำงาน
การดูแลสุขภาพช่องปากของวัยทำงาน

การตรวจสุขภาพช่องปากและการป้องกัน

การป้องกันเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพช่องปากที่ดีตลอดชีวิต การลงทุนเวลาและทรัพยากรเพียงเล็กน้อยในการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำและการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี สามารถป้องกันปัญหาที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตได้ และทันตแพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มต้นได้ เช่น ฟันผุระยะแรกเริ่ม หรือโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งทำให้การรักษาง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการปล่อยให้ปัญหาลุกลาม

การดูแลตนเองที่บ้าน: เกราะป้องกันในชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพช่องปากที่บ้านอย่างถูกวิธี เป็นการป้องกันด่านแรกที่สำคัญที่สุด

  • เทคนิคการแปรงฟัน:
    ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนนอน ใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาทีต่อครั้ง เลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่มหรือนุ่มพิเศษและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • ทำความสะอาดซอกฟัน:
    การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดซอกฟันได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 40% ของผิวฟันทั้งหมด ดังนั้น การใช้ไหมขัดฟัน (Dental Floss) หรือแปรงซอกฟัน (Interdental Brush) อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้  
  • ทำความสะอาดลิ้น:
    ควรแปรงลิ้นเบาๆ ทุกครั้งหลังแปรงฟัน เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก
  • อาหาร:
    ลดความถี่ในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
ปัญหาช่องปากที่พบบ่อยในวัยทำงาน
ปัญหาช่องปากที่พบบ่อยในวัยทำงาน

ปัญหาช่องปากที่พบบ่อยในวัยทำงาน

ภาวะฟันสึก

ภาวะฟันสึกเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ การระบุสาเหตุที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อวางแผนการป้องกันและรักษาที่ตรงจุด

  • Attrition (การสึกจากการบดเคี้ยว): คือการสึกของผิวฟันด้านบดเคี้ยวที่เกิดจากการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างฟันบนและฟันล่าง
    • สาเหตุ: มักเกิดจากภาวะนอนกัดฟัน (Bruxism) ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความเครียดและความวิตกกังวลในวัยทำงาน
    • อาการ: ฟันจะค่อยๆ สั้นลงและมีลักษณะแบน อาจมีอาการเสียวฟัน ปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวบริเวณกราม ปวดศีรษะหลังตื่นนอนในตอนเช้า
    • การแก้ไข: การใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) ที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคลเพื่อสวมใส่ตอนนอน เป็นวิธีการรักษาหลักเพื่อป้องกันแรงบดทำลายฟันและลดการทำงานของกล้ามเนื้อ  ควบคู่ไปกับการจัดการความเครียด
  • Abrasion (การสึกจากการเสียดสี): คือการสูญเสียเนื้อฟันที่เกิดจากวัตถุภายนอก มักพบลักษณะเป็นรอยเว้าคล้ายลิ่มบริเวณคอฟัน
    • สาเหตุ: สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการแปรงฟันที่รุนแรงและผิดวิธี เช่น การใช้แปรงสีฟันขนแข็งแปรงในแนวนอนแรงๆ หรือการใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบเกินไป
    • การแก้ไข: เปลี่ยนไปใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ปรับเทคนิคการแปรงฟันให้ถูกต้อง (ใช้แรงเบาๆ และแปรงในลักษณะขยับปัดหรือวนเป็นวงกลม) และเลือกใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดละเอียด
  • Erosion (การสึกกร่อนจากกรด): คือการละลายของผิวเคลือบฟันจากสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด
    • สาเหตุ: เกิดได้จากปัจจัยภายนอก เช่น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูงเป็นประจำ (น้ำอัดลม น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เครื่องดื่มชูกำลัง) หรือปัจจัยภายใน เช่น โรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสัมผัสกับฟัน
    • การแก้ไข: ลดความถี่ในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นกรด หลังบริโภคให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า แต่ควรรออย่างน้อย 30 นาทีก่อนแปรงฟัน เพื่อให้น้ำลายช่วยปรับสภาพความเป็นกรดในช่องปากก่อน และหากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา

โรคเหงือกอักเสบ จากเหงือกอักเสบที่รักษาหายได้ สู่ปริทันต์อักเสบที่แก้ไขไม่ได้

โรคเหงือกเป็นภัยเงียบที่เริ่มต้นจากสิ่งเล็กน้อยแต่สามารถนำไปสู่การสูญเสียฟันได้หากไม่ได้รับการดูแล

  • ระยะที่ 1:
    โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) โรคเหงือกเริ่มต้นจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ หากไม่ถูกกำจัดออกด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ คราบนี้จะสะสมแร่ธาตุจากน้ำลายและแข็งตัวกลายเป็นคราบหินปูน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่มากขึ้น ทำให้เหงือกระคายเคืองและอักเสบ
    • อาการ: เหงือกมีสีแดง บวม และมีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
    • การรักษา: สามารถรักษาให้หายได้โดยการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์ เพื่อกำจัดปัจจัยก่อโรค และการดูแลอนามัยช่องปากที่บ้านอย่างพิถีพิถันและสม่ำเสมอ
  • ระยะที่ 2:
    โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis หรือ โรครำมะนาด) เป็นระยะลุกลามของโรคเหงือก ซึ่งการอักเสบและการติดเชื้อได้แพร่กระจายลงไปทำลายอวัยวะปริทันต์ที่อยู่ลึกลงไป ได้แก่ เอ็นยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟันที่รองรับฟัน เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ และเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่
    • อาการ: มีอาการของโรคเหงือกอักเสบร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เหงือกร่นทำให้ฟันดูยาวขึ้น มีกลิ่นปากรุนแรง อาจมีหนองไหลจากร่องเหงือก และในที่สุดฟันจะเริ่มโยกหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
    • การรักษา: จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ซับซ้อนขึ้นโดยทันตแพทย์เฉพาะทางโรคปริทันต์ ซึ่งได้แก่ การขูดหินปูนและการเกลารากฟัน (Scaling and Root Planing) เพื่อทำความสะอาดผิวรากฟันที่อยู่ลึกลงไปใต้เหงือก ในกรณีที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดปริทันต์ (Periodontal Surgery) เพื่อกำจัดเชื้อโรคในบริเวณที่ลึกและซับซ้อน หรือเพื่อซ่อมแซมและสร้างเสริมกระดูกที่ถูกทำลายไป

มะเร็งช่องปาก ภัยเงียบที่ต้องเฝ้าระวัง

มะเร็งช่องปากเป็นโรคที่อันตราย แต่หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะมีโอกาสรักษาหายสูงมาก การตรวจช่องปากด้วยตนเองเป็นประจำ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ควรตรวจช่องปากด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์)  เพื่อมองหาสัญญาณเตือน เช่น แผลในช่องปากที่ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ฝ้าขาวหรือแดง หรือก้อนเนื้อที่ผิดปกติ  หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที

ลดปัจจัยเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้ยาสูบแบบไม่เผาไหม้ (เช่น เคี้ยวหมาก) การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Disorders – TMD)

ระบบการบดเคี้ยวประกอบด้วยกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อที่ทำงานประสานกัน เพื่อให้เราสามารถเคี้ยว พูดได้ ซึ่งระบบนี้อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะภายใต้ความกดดันของวิถีชีวิตสมัยใหม่ ปัญหาในระบบบดเคี้ยวมักมีความสัมพันธ์เป็นวงจร การสูญเสียฟันนำไปสู่ฟันล้ม ซึ่งทำให้การสบฟันผิดปกติ การสบฟันที่ผิดปกตินี้จะสร้างแรงกดที่ผิดธรรมชาติต่อข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อ ทำให้อาการ TMD และการนอนกัดฟันรุนแรงขึ้น จากนั้นการนอนกัดฟันที่รุนแรงขึ้นก็จะทำให้ฟันสึกหรือแตกหักมากขึ้น

  • สาเหตุ: มักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การบาดเจ็บโดยตรง โรคข้ออักเสบ ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อจากความเครียด การนอนกัดฟัน และการสบฟันที่ผิดปกติซึ่งมักเป็นผลมาจากการสูญเสียฟันแล้วไม่ได้ใส่ทดแทน
  • อาการ: ปวดบริเวณกราม ใบหน้า คอ หรือรอบๆ หู มีเสียงคลิก หรือเสียงกรอบแกรบเวลาอ้าปาก อ้าปากได้ไม่สุด ขากรรไกรค้างและอาการปวดศีรษะ
  • การวินิจฉัยและการรักษา: ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสบฟัน (ทันตกรรมบดเคี้ยว) จะเป็นผู้วินิจฉัย การรักษามักจะเริ่มจากวิธีที่ไม่รุนแรงก่อน เช่น การใส่เฝือกสบฟันเพื่อลดแรงกดที่ข้อต่อและลดการทำงานของกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัดและบริหารขากรรไกร การใช้ยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ ในกรณีที่รุนแรง อาจพิจารณาการฉีดยาหรือการผ่าตัด
การป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากของวัยทำงาน
การป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากของวัยทำงาน

สุขภาพช่องปากที่ดี คือการลงทุนเพื่อความสำเร็จ

วิถีชีวิตวัยทำงานเต็มไปด้วยความเครียดและเร่งรีบ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพช่องปาก การดูแลแบบองค์รวม ทั้งการลดความเครียด การเลือกรับประทานอาหาร การลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง และการดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ คือกุญแจสำคัญในการป้องกันปัญหาทั้งหมด

บทความและข้อมูลความรู้ทางทันตกรรมโดย

ผศ.ทพญ.ภัทรนฤน กาญจนบุษย์

อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก