คำถาม: สำหรับเด็กเล็ก ผู้ปกครองหลายคนเชื่อว่า การที่เด็กดูดนิ้ว จะทำให้ลูกฟันเหยิน เรื่องนี้จริงหรือไม่ ผู้ปกครองจะทราบได้อย่างไรว่าลูกเริ่มมีปัญหาจากการดูดนิ้ว และผู้ปกครองควรแก้ไขอย่างไร

พฤติกรรมการดูดนิ้วในเด็กเล็ก อายุไม่เกิน 2 ขวบ ไม่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ ปลอดภัย และมักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องช่วยเหลืออะไร แต่หากเด็กยังมีพฤติกรรมดูดนิ้วจนอายุ 3 ขวบ ผู้ปกครองควรพามาพบทันตแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือในการเลิกดูดนิ้ว

การดูดนิ้วส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันและรูปร่างของขากรรไกร
ผลจาก “การดูดนิ้ว” ส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันและรูปร่างของขากรรไกร

หากเด็กยังไม่เลิกดูดนิ้ว ผลที่จะตามมาคือ ส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันและรูปร่างของขากรรไกร ได้แก่ ฟันหน้าบนยื่นและห่าง ฟันหน้าล่างล้มเข้าไปด้านใน ฟันหน้าบนและล่างไม่สบกัน ขากรรไกรบนจะมีขนาดเล็กและแคบลง  จนทำให้เกิดการสบคร่อมของฟันด้านหลัง สาเหตุมาจาก แรงดันของนิ้วที่เด็กเอาเข้าไปในปากจะค่อยๆดันฟันหน้าบนให้ยื่นไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันจะกดฟันหน้าล่างให้ล้มเข้าไปทางด้านลิ้น แรงดูดที่มากพอที่แก้มด้านข้าง ยังส่งผลให้ขากรรไกรบนมีขนาดแคบลงมากกว่าปกติได้ ความรุนแรงของความผิดปกติของฟันและขากรรไกรจะขึ้นกับความถี่ และระยะเวลาของการดูดนิ้ว ยิ่งเด็กที่ดูดนิ้วตลอดเวลาทั้งตอนตื่นและนอน หรือเด็กที่อายุมากแล้วยังไม่เลิกดูดนิ้ว จะมีอาการความผิดปกติชัดเจนมากกว่า

สาเหตุที่การดูดนิ้วส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันและรูปร่างของขากรรไกร
สาเหตุที่ “การดูดนิ้ว” ส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันและรูปร่างของขากรรไกร

การแก้ไขพฤติกรรมดูดนิ้ว จะเริ่มต้นจากการพูดคุยกับเด็กให้เลิก เช่น อธิบายถึงข้อเสียของการดูดนิ้ว เชื้อโรคอาจเข้าปากได้ หรืออาจโดนเพื่อนล้อได้ แต่หากยังไม่ได้ผล อาจมีการให้รางวัลกับเด็ก หรือ ใช้พลาสเตอร์พันที่นิ้ว เพื่อให้เด็กนึกขึ้นมาได้ว่าไม่ควรดูดนิ้ว แต่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงวิธีรุนแรงเช่น การดุ การทำให้รู้สึกผิด ทายาขมที่นิ้ว และที่สำคัญไม่ควรให้เด็กดูดจุกยางแทนการดูดนิ้ว เพราะปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น

การแก้ไขพฤติกรรมดูดนิ้วและวางแผนการรักษา
การแก้ไขพฤติกรรมดูดนิ้วและวางแผนการรักษา

หากวิธีข้างต้นยังไม่ได้ผล ทันตแพทย์จะต้องเริ่มใช้เครื่องมือในปาก เพื่อป้องกันเด็กไม่ให้เอานิ้วเข้ามาดูดได้เหมือนเดิม มีทั้งเครื่องแบบถอดได้ และแบบยึดแน่น โดยจะต้องใช้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะเลิกดูดนิ้ว ดังนั้นหากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานของท่าน ยังไม่เลิกดูดนิ้วจนอายุมากกว่า 3 ขวบ ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ปกครองก่อนที่จะเกิดผลเสียกับฟันและขากรรไกร

ผู้ตอบคำถามและข้อมูลความรู้ทางทันตกรรมโดย

ผศ.ทพ.สมกมล วนิชวัฒนะ

อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก