ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากจริงหรือไม่ จะส่งผลให้เกิดอาการอะไรบ้าง และควรดูแลหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากได้อย่างไร
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่นสามารถส่งผลต่อสุขภาพช่องปากได้จริง
เนื่องจากในช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน (estrogen)ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง และ แอนโดรเจน (androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย รวมถึงระบบหลอดเลือดและเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก โดยเฉพาะเหงือก เมื่อระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หลอดเลือดฝอยที่เหงือกจะขยายตัวมากขึ้น เนื้อเยื่อเหงือกจะมีการตอบสนองต่อแบคทีเรียรุนแรงขึ้น ทำให้เหงือกอักเสบมากกว่าปกติ แม้ว่าจะมีคราบจุลินทรีย์เพียงเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อละเลยต่อการดูแลสุขภาพช่องปาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบรุนแรงขึ้นไปอีก และปัญหาช่องปากอื่นๆตามมา
อาการที่อาจพบจากผลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง
- เหงือกอักเสบ มีลักษณะบวม แดง มีเลือดออกง่าย โดยเฉพาะเวลาที่แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน (puberty gingivitis)
- กลิ่นปาก จากการสะสมของคราบจุลินทรีย์และการอักเสบ
- ฟันผุง่าย เนื่องจากวัยรุ่นมักมีพฤติกรรมกินจุบจิบหรือชอบอาหารหวาน และมักปล่อยปละละเลยต่อการดูแลทำความสะอาดช่องปาก
แนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพช่องปากในวัยรุ่น
- เน้นการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้น 1500 พีพีเอ็ม และใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ
- ลดอาหารหวานและจุบจิบ หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ลูกอม หรือขนมที่มีน้ำตาลสูง
- พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน เพื่อประเมินและป้องกันปัญหาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสามารถส่งผลต่อสุขภาพช่องปากได้ และแนะนำการดูแลตัวเองในช่วงวัยนี้
- ส่งเสริมสุขภาพช่องปากผ่านโรงเรียนหรือครอบครัว โรงเรียนควรมีการสอนสุขศึกษาเรื่องช่องปากและครอบครัวควรมีบทบาทในการดูแล
สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างคือการสร้างแรงจูงใจให้กับวัยรุ่นในการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อให้เกิดการดูแลตัวเองได้จริง ดังนั้นควรคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของช่วงวัยนี้ เช่น ความรู้สึกอยากเป็นอิสระ สนใจภาพลักษณ์ และการยอมรับจากเพื่อน ตัวอย่างเช่น เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ภายนอก อธิบายให้เห็นว่า กลิ่นปาก ฟันเหลือง หรือเหงือกบวม อาจกระทบความมั่นใจและภาพลักษณ์ คนที่อยู่ใกล้ๆจะชอบมั้ย
หรือ ยกตัวอย่างปัญหาจริง เช่น “ฟันผุแล้วต้องถอน – ต้องใส่ฟันปลอมตั้งแต่อายุยังน้อย”
ควรให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น เชิญชวนให้เขาตั้งเป้าหมายสุขภาพช่องปากของตัวเอง “อยากฟันขาวก่อนเปิดเทอม” และพ่อแม่ควรชื่นชม สนับสนุน ไม่ตำหนิเมื่อวัยรุ่นพยายามดูแลช่องปาก
บทความและข้อมูลความรู้ทางทันตกรรมโดย
รศ.ทพญ.ดร. วรรณกร ศรีอาจ
อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Tags
กลับไปที่หน้าหลัก
ความรู้ทางทันตกรรม