พ.ศ. 2483

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศตั้งแผนกทันตแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นแผนกอิสระ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นหัวหน้าแผนกอิสระ นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ระดับมหาวิทยาลัยขึ้นในประเทศไทย แต่ตามหลักฐานต่าง ๆ เท่าที่สามารถจะรวบรวมได้นั้น น่าจะกล่าวได้ว่าความสนใจในการจัดการศึกษาวิชาการสาขานี้ได้เริ่มมีเค้าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2471 ขณะที่ ศาสตราจารย์ พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นอาจารย์ ในแผนกอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้เคยเสนอความคิดเห็นนี้ขึ้น แต่ไม่มีผลอย่างใด เหตุที่ท่านผู้นี้มีความสนใจที่จะเริ่มการศึกษาทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัย ก็เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2460 ภายหลังที่สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (M.D.) จากมหาวิทยาลัย Syracuse แล้วก็ได้รับการสนับสนุนให้เข้า ศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ต่อในมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (D.D.S.) เมื่อ พ.ศ. 2468 ในเวลาใกล้เคียงกันนี้ก็มีนักศึกษาไทยอีกผู้หนึ่งได้รับพระราชทานทุนการศึกษา จากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ให้เข้าศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ อยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันนั้นด้วย ท่านผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์ พ.ท. สี สิริสิงห อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ท่านทั้งสองดังกล่าวนี้ได้เป็นกำลังสำคัญมากในการก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในเวลาต่อมา

slide history 03 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2486

ใน พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นโดยแยกคณะแพทยศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกเภสัชศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมเป็นมหาวิทยาลัยสังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์ พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ และในปีนี้เองได้มีพิธีประสาทปริญญาแก่ทันตแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก จำนวน 6 คน

พ.ศ. 2490

ปี พ.ศ. 2490 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ออกเป็น 12 แผนก ได้แก่ แผนกอำนวยการ แผนกทันตวิภาคศาสตร์วิทยาฮิสโตกรรมและทันตพยาธิวิทยา แผนกเภสัชวิทยาและวิชาการรักษา แผนกทันตกรรมหัตถการ แผนกทันตกรรมประดิษฐ์ แผนกทันตกรรมจัดฟัน แผนกศัลยศาสตร์ แผนกรังสีวิทยา แผนกกายวิภาคศาสตร์ แผนกสรีรวิทยาและชีวเคมี แผนกวิทยาบัคเตรี-พยาธิ และแผนกโรงเรียนทันตานามัย (โอนกิจการโรงเรียนทันตแพทย์ชั้น 2 ของกรมสาธารณสุข)

พ.ศ. 2499

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2499 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้จัดตั้งโรงพยาบาลโรคฟันและได้รับเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลทันตกรรม นอกจากนี้ยังได้ทำพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิของคณะฯ

พ.ศ. 2506

slide history 01 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 8-15 สิงหาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะทันตแพทยศาสตร์จัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลรวมเป็นเงิน 1,007,801.15 บาท และเงินจำนวนนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแก่คณะทันตแพทยศาสตร์เพื่อเป็นทุนเริ่มแรกในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ และคณะทันตแพทยศาสตร์จึงได้จัดของบประมาณสมทบเงินจำนวนดังกล่าวนี้อีก 4,000,000 บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนปฏิบัติการและวิจัยเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารนี้ว่า “ทันตรักษ์วิจัย”

พ.ศ. 2512

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ (พระนามในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดตึกทันตรักษ์วิจัยพร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดิษฐานพระปรมาภิไธย “ภปร.” ไว้ด้านหน้าอาคารด้านถนนอังรีดูนังต์ ภาควิชาต่างๆ ทางคลินิกได้ย้ายเข้ามาอยู่ในตึกทันตรักษ์วิจัยนี้ นอกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ และภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ยังคงอยู่ในตึกทันตกรรมเดิม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามว่า “มหิดล” และได้ออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา คณะทันตแพทยศาสตร์จึงสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 คณะทันตแพทยศาสตร์จึงโอนกลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากคณะฯ เคยสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน รวมทั้งสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีการตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นใหม่

slide history 02 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2513

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประกอบพิธีเจิมรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่เป็น “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” นับเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ส่วนพระองค์ ซึ่งสืบเนื่องมากจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนพระทัยต่อสุขภาพในช่องปากของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและประชาชนที่อยู่ห่างไกล ทางคณะฯ ยังดำเนินการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้

พ.ศ. 2514

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2514 คณะฯ ได้เปลี่ยนภาควิชาโรงเรียนทันตานามัยเป็นภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กเนื่องจากการขยายตัวทางด้านวิชาการทันตแพทยศาสตร์ คณะฯ จึงได้รับอนุมัติให้ตั้งภาควิชาต่างๆ ขึ้นใหม่ดังต่อไปนี้ ปี พ.ศ. 2516 ตั้งภาควิชาชีวเคมีแยกจากภาควิชาสรีรวิทยา และตั้งภาควิชาทันตกรรมชุมชนแยกจากภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและเปิดโครงการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ขึ้น

พ.ศ. 2517

ปี พ.ศ. 2517 ได้ตั้งภาควิชาปริทันตวิทยาแยกจากภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก

พ.ศ. 2521

ปี พ.ศ. 2521 ได้ตั้งภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยวซึ่งเป็นภาควิชาที่ 16

พ.ศ. 2522

ปี พ.ศ. 2522 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับงบประมาณก่อสร้างตึก 5 ชั้นขึ้นใหม่ คือตึกทันต. 5 (คลินิกรวม) เพื่อเป็นที่ตั้งของคลินิกรวม ประกอบด้วยภาควิชาทางคลินิก 4 ภาควิชา คือภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันต กรรมหัตถการ ภาควิชาปริทันตวิทยา และภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยว นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของภาควิชาทันต กรรมชุมชน ภาควิชาทันตพยาธิวิทยา และห้องสมุดคณะฯ

พ.ศ. 2525

ใน ปี พ.ศ. 2525 คณะฯ ได้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์” เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการทางด้านทันตแพทยศาสตร์ของคณะฯ ในขณะที่คณะฯ มีอายุครบ 42 ปี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเฉลิมฉลองและสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

พ.ศ. 2531

ในปี พ.ศ. 2531 คณะฯ ได้แบ่งส่วนราชการตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย (โครงสร้างการบริหารและองค์กรคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ) ออกเป็น 16 ภาควิชา สำนักงานเลขานุการ และโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์

พ.ศ.2533

slide history 04 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2533 ในวาระที่คณะฯ ได้ก่อตั้งมาครบ 50 ปี และเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุ 90 พรรษา คณะฯ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และศิษย์เก่า ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาได้ ร่วมกันจัดสร้างอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นพร้อมครุภัณฑ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและ เทิดพระเกียรติองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาคารนี้จัดเป็นโรงพยาบาลทางทันตกรรม แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้านศัลยกรรมช่องปาก กระดูกขากรรไกรและใบหน้า รวมทั้งโรคฟันอื่นๆ ครบวงจร

ในวโรกาสเดียวกันนี้ ยังได้จัดสร้างพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานไว้ ณ บริเวณโถงชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์นี้ เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าอาจารย์ นิสิต ข้าราชการ บุคลากร และประชาชนที่มารับบริการด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุ 93 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณา ธิคุณจากพระองค์ท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ ว่า “อาคารสมเด็จย่า 93” ซึ่งนับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่คณะทันตแพทยศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2539

พ.ศ.2539

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิด “อาคารสมเด็จย่า 93” ซึ่งเป็นอาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ขนาด 40 เตียง บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิโลเฟเชียลแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยหน่วยบูรณะช่องปากและใบหน้า หน่วยความผิดปกติของใบหน้าแต่กำเนิด (ปากแหว่ง – เพดานโหว่) หน่วยทันตกรรมผู้สูงอายุ หน่วยทันตกรรมรากเทียม หน่วยผู้ป่วยติดเชื้อ รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนและปฏิบัติงานของนิสิตหลักสูตรหลังปริญญาทุกสาขาวิชา เป็นที่ตั้งของศูนย์การศึกษาบัณฑิตศึกษา ศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปาก ศูนย์ทันตสารสนเทศ และห้องประชุมสี สิริสิงห

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ฉลองครบรอบ 70 ปี ในการก่อตั้งคณะฯ เมื่อวันที่ 12 – 14 สิงหาคม 2553 คณะฯ ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน และยังมีคณบดีจากมหาวิทยาลัยในประเทศทั้ง 8 มหาวิทยาลัย และต่างประเทศจำนวน 11 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้คณะฯ ยังได้จัดการประชุมระหว่างคณบดี เพื่อหาแนวทางการศึกษาทางทันตแพทย์ในทศวรรษหน้าซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณบดีทุกประเทศ และคณะฯ ยังได้ทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับคณบดีต่างประเทศมากกว่า 10 มหาวิทยาลัย