หลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิตและสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต

Dual-Degree Program DDS-MPH

juriel majeed w6t78u8YnAg unsplash คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระยะเวลาการศึกษา

(ตามเกณฑ์)

ปริญญาตรี + ปริญญาโท

6 + 1 ปี

เรียนเต็มเวลา

ระดับ

  • ปริญญาตรี และ
  • ปริญญาโท

ชื่อปริญญา

  • ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) และ
  • สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต

ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน

  • ภาษาไทย
  • ภาษาอังกฤษ

พันธกิจ

คณะทันตแพทยศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญของการศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์ที่จะออกไปรับใช้สังคมในด้านการบริการสาธารณสุข จึงมีความร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์ด้านบริหารงานสาธารณสุข โดยสามารถประยุกต์ใช้ในงานทันตสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการด้านทันตสุขภาพของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างยั่งยืน


ความเป็นมาของหลักสูตร

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยด้านทันตแพทยศาสตร์ ที่มุ่งเน้นในการผลิตบัณฑิต องค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยหน้าที่หลักที่สำคัญ คือ การผลิตทันตแพทย์เพื่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพภาคเอกชนและระบบบริการสาธารณสุขในภาครัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อออกไปปฏิบัติงานดูแลรักษาสุขภาพช่องปากในระดับประชาชน ระดับชุมชน และระดับประเทศ

เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์ที่จะออกไปรับใช้สังคมในด้านการบริการสาธารณสุขภาครัฐ คณะทันตแพทยศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของนิสิตทันตแพทย์ในด้านการบริหารสาธารณสุข จึงมีความร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตทันตแพทย์ด้านบริหารงานสาธารณสุข โดยสามารถประยุกต์ใช้ในงานทันตสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการด้านทันตสุขภาพของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมของประชาชนอย่างยั่งยืน

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบสุขภาพของประชากรในสังคมทั้งในระดับชุมชน ระดับชาติและนานาชาติ มีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ร่วมกับวิทยาการที่ทันสมัยทั้งด้านการบริหารและการวิจัยเพื่อพัฒนา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งในด้านการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อให้มีแนวทางการประสานความร่วมมือและการร่วมดำเนินการที่ชัดเจนบนฐานความประสงค์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายสู่ความร่วมมือ จึงได้จัดทำโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และ สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี้ขึ้น


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขในการพัฒนาหลักสูตรควบข้ามระดับอย่างยั่งยืน
  2. เพื่อผลิตบัณฑิตทันตแพทยศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถควบคู่กับศาสตร์ด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
  3. เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลิตงานวิจัยด้านทันตสาธารณสุขและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน
  4. เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ระดับชุมชน ระดับชาติและนานาชาติอย่างยั่งยืน
  5. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนงาน ในการที่จะพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและภูมิภาคที่มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและวิจัย

ผู้บริหารหลักสูตร

คณะทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดผู้รับผิดชอบตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งสามารถติดต่อได้ ดังนี้

คณะทันตแพทยศาสตร์

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
34 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330

อาจารย์ผู้ประสานงานหลักสูตร

อาจารย์ ดร.ทพญ. นิธิมา เสริมสุธีอนุวัฒน์

Email: nithimar.s@chula.ac.th

คุณสมบัติของนิสิต

  • นิสิตทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ทำโครงการวิจัยระดับปริญญาบัณฑิตกลุ่มละ 1-3 คน และ อาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.)
  • นำโครงการวิจัยด้านทันตสาธารณสุขที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ ชั้นปีที่ 4 และ ชั้นปีที่ 5 มาดำเนินการต่อเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาวิทยานิพนธ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 สถาบัน โดยข้อกำหนดคือ นิสิต DDS-MPH 1 คน ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท 1 เรื่อง ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัย 1 กลุ่มมีนิสิต 3 คน ถ้านิสิตทั้ง 3 คนเข้าร่วมหลักสูตรควบข้ามระดับฯ DDS-MPH ต้องทำวิทยานิพนธ์ 3 เรื่อง (นิสิตDDS-MPHแต่ละคนต้องทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คนละ 1 เรื่อง )
  • นิสิตยื่นใบสมัครและ concept paper เพื่อเข้ารับการสอบสัมภาษณ์คัดเลือกเข้าหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) กับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 เทอมปลาย
  • นิสิตต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ (CU-TEP > 45) ก่อนสมัครเข้าหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) (ควรสอบ CU-TEP ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 เทอมปลาย)
  • นิสิตต้องมีเกรดเฉลี่ยรวม (GPAX) ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-5 ไม่น้อยกว่า 3.00 ก่อนสมัครเข้าหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.)

การจัดการเรียนการสอน

DDS. ปริญญาตรี
ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

เรียน 6 ปี

  • จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรเรียน 6 ปีตามปกติ โดย ปี 4, ปี 5 นิสิตต้องทำโครงการวิจัยเป็นภาษาอังกฤษทุกคนตามปกติ
  • นิสิตในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) ต้องลงทะเบียนเรียนวิชาเลือกวิชา สาธารณสุขพื้นฐานสำหรับทันตแพทย์ (Fundamentals of Public Health for Dentists) ในปี 6 เทอม 2

MPH. ปริญญาโท
สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

เรียน 1 ปี

  • นิสิตที่ผ่านการคัดเลือกได้ลงทะเบียนเรียนระดับปริญญาโท ขณะที่ศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตอยู่ชั้นปีที่ 6
  • นิสิตในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) ทำวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียว เรียนแผน A1 Non coursework MPH (Thesis 36 Credits) และ ลงทะเบียนเรียนวิชา Thesis seminar ซึ่งเป็นวิชาเลือก (S/U) ทำวิทยานิพนธ์และเรียนเป็นภาษาอังกฤษ

นิสิตในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) ต้องพบอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 สถาบัน เพื่อร่วมกันพัฒนาวิทยานิพนธ์


การสำเร็จการศึกษา

DDS. ปริญญาตรี
ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

เรียน 6 ปี

  • นิสิตสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ของหลักสูตรระดับปริญญาตรี ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

MPH. ปริญญาโท
สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

เรียน 1 ปี

  • นิสิตในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (MPH.) ตามข้อบังคับจุฬาฯ พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ว่า “บทความวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตต้องได้รับการตีพิมพ์ หรือ ยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ หรือเสนอต่อที่ประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุมฉบับสมบูรณ์”
  • วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีการจัดประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุมฉบับสมบูรณ์ ปีละ 2 ครั้ง
  • ข้อตกลงเรื่องการตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ (ถ้ามี) ให้เป็นไปตาม MOU*

ทุนการศึกษา

DDS. ปริญญาตรี
ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

เรียน 6 ปี

  • นิสิตชำระค่าเทอมระดับปริญญาตรีตามปกติ

MPH. ปริญญาโท
สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

เรียน 1 ปี

  • นิสิตในหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) สามารถขอรับทุนการศึกษาสำหรับเรียนระดับปริญญาโท MPH ได้จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โดยในเบื้องต้นมีทุนการศึกษาสนับสนุนจากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ทุน/ ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565-2569
  • ในปีการศึกษา 2565 บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ มอบทุนการศึกษาให้นิสิตที่เข้าร่วมหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) จำนวน 4 ทุนการศึกษา (ตามจำนวนนิสิตที่ผ่านการสอบคัดเลือก)
IMG 0690 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
IMG 0722 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
IMG 0703 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

ถ้าเป็นงานเฉพาะทางก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับทันตสาธารณสุข งานสาธารณสุขทั่วๆไป และทุกงานที่รับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ไม่จำกัดสาขา ตามที่หน่วยงานกำหนด นิสิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรควบข้ามระดับฯ (DDS.-MPH.) จะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท เมื่อไปสมัครเข้าทำงาน มีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานจากหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ มากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มต้องลาไปเรียนต่อในอนาคต

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายวิชาการ

คณะทันตแพทยศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

34 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330

  • โทรศัพท์ 0 2218 8652 – 4
  • Email academicgroup.dent@gmail.com
  • Facebook @AcademicDentCU
  • LINE @927tsbtk