กัญชากับสุขภาพช่องปาก

กัญชามีองค์ประกอบที่เป็นสารสำคัญ 2 กลุ่มใหญ่ คือ THC และ CBD ซึ่งมีประโยชน์ในทางการแพทย์และทันตกรรม เช่นมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท การต้านเชื้อ และลดการอักเสบ อย่างไรก็ดีการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาที่ไม่มีการควบคุมและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้นสามารถส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพช่องปาก

สาร THC ในกัญชามีผลลดอัตราการหลั่งของน้ำลาย ทำให้เกิดภาวะปากแห้ง และลดความสามารถในการเป็นบัฟเฟอร์ของน้ำลาย ร่วมกับ THC จะกระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้รับประทานอาหารบ่อยขึ้น และละเลยการทำความสะอาดช่องปากที่เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้กัญชาที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มีสภาวะช่องปากที่ส่งเสริมให้เกิดโรคฟันผุได้สูงขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่าฟันผุในผู้ใช้กัญชาจะพบในบริเวณผิวฟันเรียบซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสเกิดฟันผุได้ต่ำ เนื่องจากทำความสะอาดได้ง่ายกว่าซอก หลุมของฟันที่เป็นตำแหน่งมีโอกาสในการเกิดฟันผุได้สูงกว่า อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดฟันผุในกลุ่มที่ใช้กัญชา เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน นอกจากตัวกัญชาเองแล้ว ยังขึ้นกับปัจจัยของพฤติกรรม และการใช้สารเสพติดอื่นร่วม

การใช้กัญชาจะทำให้ภาวะปากแห้ง เนื่องจากลดการหลั่งของน้ำลาย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเหงือกอักเสบและปริทันต์อักเสบเนื่องมากจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ก่อโรค โดยพบความสัมพันธ์ของโรคปริทันต์อักเสบในกลุ่มที่ใช้กัญชา นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้กัญชามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อราในเยื่อเมือกช่องปาก ความร้อนจากการสูบกัญชาส่งผลให้เกิดรอยโรคขาวของเยื่อเมือกในช่องปากซึ่งพบได้เช่นเดียวกันในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบรอยโรคก่อนมะเร็งในเยื่อเมือกช่องปากในกลุ่มผู้ป่วยที่สูบกัญชา ควันจากการสูบกัญชาจะมีสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่แต่การศึกษาความสัมพันธ์ของกัญชาและมะเร็งช่องปากยังมีข้อมูลน้อย เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่และสุขภาพช่องปาก

อย่างไรก็ดีการใช้สารสกัดจากกัญชาในรูปแบบที่เหมาะสม และภายใต้ความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และทันตกรรม ยังมีประโยชน์ ดังเช่นการศึกษาของกลุ่มวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการพัฒนาตำรับยาป้ายแผลในช่องปากโดยมีส่วนผสมของ CBD มีประสิทธิภาพในการลดขนาดของแผล และคะแนนความปวดในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยามากกว่ากลุ่มควบคุม (Umpreecha et al, BMC Complement Med Ther 2023; 23(1):57.)

โดยสรุปคือสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์และทันตกรรม เมื่อมีการใช้ในรูปแบบที่เหมาะสม และมีการควบคุมการใช้ภายใต้กฏหมายที่ชัดเจนและเหมาะสม โดยการใช้กัญชาทางการแพทย์ควรเป็นไปตามดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักฐานและความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย


References

Joshi S, et al. British Dental Journal 2016: 597-601.
Keboa MT, et al. J Can Dent Assoc 2022;k2.
Umpreecha et al, BMC Complement Med Ther 2023; 23(1):57.