logo biomaterial testing center คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกี่ยวกับศูนย์ทดสอบชีววัสดุ

Biomaterial Testing Center

ความเป็นมา

ในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์กันอย่างกว้างขวางในหลายๆ ประเทศ สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบในธรรมชาติมากมายที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ได้ ทั้งที่เป็นพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ ดังนั้นการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์โดยใช้วัสดุที่มีในประเทศจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง วัสดุทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีหลายชนิด ขึ้นกับวิธีการใช้งาน เช่น ชนิดที่ไม่มีการสัมผัสกับผู้ป่วย ชนิดที่มีการสัมผัสผู้ป่วยที่ผิวภายนอก และชนิดที่มีการผ่าตัดใส่เข้าไปในเนื้อเยื่อของผู้ป่วย หากเป็นวัสดุ 2 ชนิดหลัง จะต้องมีการตรวจว่าวัสดุนั้นมีความเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื่อของมนุษย์หรือไม่ ปัจจุบันนี้ มีบริษัทและกลุ่มนักวิจัยทางวัสดุศาสตร์ ทำการผลิตวัสดุทางการแพทย์อย่างมากมาย แต่หน่วยงานหรือสถาบันที่ทำการทดสอบลักษณะทางเซลล์ชีววิทยาและชีววิศวกรรมของวัสดุยังมีน้อย ประกอบกับขณะนี้คณาจารย์ของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีการพัฒนาทันตชีววัสดุ (Dental Biomaterials) หลายชนิด และมีการสอนหลักสูตรปริญญาเอกสหสาขา สาขาวิชาทันตชีววัสดุศาสตร์อีกด้วย

ดังนั้นในช่วงปีงบประมาณ 2549 ฝ่ายวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ทพญ. ดร. สมพร สวัสดิสรรพ์ (ตำแหน่งทางวิชาการขณะนั้น) ให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาวิชาการและจัดตั้งศูนย์วิจัยชีววิศวกรรมและทดสอบวัสดุทางการแพทย์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและทดสอบลักษณะสมบัติของวัสดุทางการแพทย์ด้วยวิธีการทางเซลล์ชีววิทยา (Cell Biology) และชีววิศวกรรม (Tissue Engineering) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นศูนย์ที่ให้บริการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพ/ความเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื่อของชีววัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่ หรือชีววัสดุที่มีผู้ขอรับบริการการตรวจสอบ และอาจเป็นผลงานการพัฒนาวัสดุของคณาจารย์ของคณะฯ หรือนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอกคณะฯ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์จากวัตถุดิบในประเทศและนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่การใช้งานได้จริงในผู้ป่วย เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่วัสดุเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ยังรองรับงานศึกษาวิจัยทางด้านเซลล์ชีววิทยาและชีววิศวกรรมที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนิสิตบัณฑิตศึกษาอีกด้วย

about1 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การดำเนินงานตามแผนพัฒนาวิชาการและจัดตั้งศูนย์วิจัยชีววิศวกรรมและทดสอบวัสดุทางการแพทย์ขึ้นนั้น ได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนวิชาการ จุฬาฯ 100 ปี ในปีงบประมาณ 2550-2555 จำนวน 7,000,320 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และจัดซื้อครุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งจัดจ้างเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน ในระหว่างปีงบประมาณ 2550-2552 ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยชีววิศวกรรมและทดสอบวัสดุทางการแพทย์ ณ ชั้น 10 อาคารสมเด็จย่า93 และปรับปรุงพื้นที่บางส่วนที่บริเวณชั้น 7 ตึกพรีคลินิก14 เพื่อจัดทำห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลอง โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นในการปรับปรุงพื้นที่และได้รับมอบพื้นที่ในปีงบประมาณ 2553 จึงได้ทำการจัดจ้างเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน เพื่อมาดูแลเอกสารดำเนินการต่างๆ โดยจัดทำระเบียบขั้นตอนการให้บริการ จัดทำอัตราค่าบริการทั้งศูนย์วิจัยชีววิศวกรรมฯและห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลอง จัดซื้อครุภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งรับผิดชอบในงานให้บริการและงานด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ให้บริการ มีผู้ขอใช้บริการทั้งอาจารย์ ทันตแพทย์ นักวิจัย บุคลากรทางห้องปฏิบัติการ นิสิตปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา จากทั้งภายในคณะฯ และหน่วยงานภายนอก มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งดำเนินการมาสิ้นสุดโครงการในการได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากเงินทุนจุฬาฯ 100 ปี ในสิ้นปีงบประมาณ 2555 แต่ด้วยที่มีผู้มาใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์ฯจึงได้รับงบประมาณสำหรับดำเนินการจากฝ่ายวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ ในปีงบประมาณ 2556 รวมทั้งในปีงบประมาณต่อมา

ในปีงบประมาณ 2556 ทางศูนย์ฯ ได้ผ่านการประเมินสถานะภาพเพื่อปรับเปลี่ยนชื่อ “ศูนย์วิจัยชีววิศวกรรมและทดสอบวัสดุทางการแพทย์” เป็น “ศูนย์ทดสอบชีววัสดุ” เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินงานการให้บริการของทางศูนย์ฯ แก่ผู้ขอรับบริการ ขณะเดียวกันมีมติจากคณะกรรมการบริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 8/2556 วันที่ 26 กรกฏราคม 2556 แต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ ทพญ. ดร. สมพร สวัสดิสรรพ์ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบชีววัสดุ เป็นท่านแรกเพื่อทำหน้าที่ดูแล บริหารจัดการและดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

นโยบายการดำเนินงาน

วิสัยทัศน์

เป็นหน่วยงานที่ให้บริการงานวิจัยและงานบริการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนแก่ผู้ขอรับบริการทั้งอาจารย์ ทันตแพทย์ นักวิจัย บุคลากรทางห้องปฏิบัติการ นิสิตปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ

พันธกิจ

  1. ให้บริการงานทดสอบหรืองานอื่นๆ ได้ตามหลักการและมาตรฐานที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. สนับสนุนการศึกษาวิจัย การเรียนการสอน และการบริการวิชาการ
  3. ส่งเสริมการพัฒนา เผยแพร่ องค์ความรู้และเทคโนโลยีหรือเทคนิคปฏิบัติที่เป็นประโยชน์แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในด้านที่เกี่ยวข้อง
  4. เป็นศูนย์กลางทางด้านงานทดสอบและบริการ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
  5. พัฒนาระบบบริหารจัดการงานให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องและยั่งยืน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและทดสอบลักษณะสมบัติของวัสดุทางการแพทย์ด้วยวิธีการทางเซลล์ชีววิทยา (Cell Biology) และวิศวกรรมเนื้อเยื้อ (Tissue Engineering) ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่
  2. เป็นศูนย์ที่ให้บริการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพ/ความเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื้อของชีววัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่ หรือชีววัสดุที่มีผู้ขอรับบริการการตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นคณาจารย์ของคณะฯ หรือนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอกคณะ
  3. เป็นการสนับสนุนนักวิจัยที่พัฒนาชีววัสดุ ให้สามารถนำไปใช้ได้ในการรักษาผู้ป่วย (จากหิ้งสู่ห้าง)
  4. รองรับงานวิจัยทางด้านเซลล์ชีววิทยาและชีววิศวกรรมที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนิสิตบัณฑิตศึกษา
  5. สามารถให้บริการงานที่เป็นประโยชน์ต่อผลการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอน

บทบาทหน้าที่รับผิดชอบ

ในปัจจุบัน ศูนย์ทดสอบชีววัสดุ มีวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์วิจัยและทดสอบลักษณะคุณสมบัติของวัสดุ ทางการแพทย์ด้วยวิธีการทางเซลล์ชีววิทยาและชีววิศกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยเป็นศูนย์ให้บริการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพ การให้บริการการจัดเตรียมและให้บริการห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงและทดสอบด้วยเซลล์ การสแกนภาพและถ่ายภาพจากสไลด์แก้ว การเตรียมสไลด์ชิ้นเนื้อเยื่อตัวอย่างทั้งการย้อมสีปกติ (Hematoxylin & Eosin) การย้อมสีพิเศษและการย้อมด้วยเทคนิคอิมมูโนฮีสโตเคมี  การให้บริการ อำนวยความสะดวกพื้นที่ห้องปฏิบัติห้องปฏิบัติการ เครื่องมือพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์และเนื้อเยื่อของ ชีววัสดุที่พัฒนาขึ้นมาใหม่หรือชีววัสดุที่มีผู้ขอรับบริการการตรวจสอบ โดยอาจเป็นผลงานการพัฒนาวัสดุของคณาจารย์ของคณะฯ หรือนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอกคณะฯ และรองรับงานวิจัยทางด้านเซลล์ชีววิทยาและชีววิศวกรรมที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนิสิตบัณฑิตศึกษาอีกด้วย