logo obrc dent chula 1024x438 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกี่ยวกับศูนย์วิจัยฯ

Oral Biology Research Center (OBRC)

ศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปาก มีหน้าที่ให้บริการเครื่องมือวิจัย เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตผลงานทางวิชาการ ให้แก่ คณาจารย์ และนิสิต ของคณะทันตแพทยศาสตร์ และผู้ใช้บริการจากภายนอก

หน้าที่และความรับผิชอบของศูนย์วิจัยฯ

ความเป็นมา

ศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปากเริ่มก่อตั้ง ในปี พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นศูนย์เครื่องมือสำหรับงานวิจัยของคณาจารย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษา โดยมี ผศ.ทญ.ดร.วิสาขะ ลิ่มวงศ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก ในปี พ.ศ. 2537-2538 ศูนย์วิจัยฯ ได้รับงบประมาณ 17.5 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องมือ ได้แก่ กล้องจุลทรรศน์หลากหลายชนิดรวมทั้งกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) ไมโครซีที (MicroCT) ชุดเครื่องมือในห้องปฏิบัติการสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์ ชุดเครื่องมือในห้องปฏิบัติการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เครื่องมือในการเตรียมและวิเคราะห์ทางชีวเคมี และเครื่องมืออื่นที่จำเป็นในงานวิจัย

หน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่องปาก ซึ่งเดิมมีแผนก่อตั้งเป็นศูนย์วิจัยฯ ในปี พ.ศ. 2540 แต่ได้ปรับให้เป็นหน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่องปาก ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปากแทนในปี พ.ศ. 2546 การจัดตั้งสำเร็จได้โดยมี รศ.ทญ.นวลฉวี หงษ์ประสงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และ รศ.ดร.เอมอร เบญจวงศ์กุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยสุขภาพช่องปาก มหาวิทยาลัยอินเดียนา หน่วยทดสอบนี้ให้บริการแก่หน่วยงานทั่วไปในด้านทดสอบการขัดสี และความสามารถในการทำความสะอาดของยาสีฟัน และยังคงจัดหาการทดสอบผลิตภัณฑ์อื่นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการ

ภายใต้การบริหารงานของฝ่ายวิจัย ได้มีการนำระบบ ISO 9002 มาใช้ในการจัดการระบบคุณภาพบริการสำหรับขอบข่ายงานให้บริการเครื่องมืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยได้รับการรับรองคุณภาพ ISO 9002 ในปี พ.ศ. 2543-2545 แล้วได้รับการปรับเวอร์ชั่น ตามที่มาตรฐานได้ปรับปรุงตามลำดับ ได้แก่ การรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2000 ในปี พ.ศ. 2546-2551 ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2008 ในปี พ.ศ. 2552-2561 และศูนย์วิจัยฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 – 14 กันยายน 2564 และการตรวจประเมินเพื่อต่ออายุใบรับรอง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 – 2567 และยังคงได้รับการต่ออายุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 15 กันยายน 2567 จนถึงปัจจุบัน ในส่วนงานทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพช่องปาก ที่ให้บริการทดสอบการขัดสีของยาสีฟัน และทดสอบความสามารถในการทำความสะอาดของยาสีฟันนั้น ยังคงมีผู้ใช้บริการให้ความสนใจและส่งตัวอย่างเข้ามาทดสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการด้วยคุณภาพตามมาตรฐานที่เป็นสากล และมุ่งมั่นที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการ  

ปัจจุบันห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยชีววิทยาช่องปาก (ห้อง 914) ได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานทั่วไปของห้องปฏิบัติการ จากศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SHECU) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 และได้เข้าร่วมโครงการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบการยอมรับร่วม (peer evaluation) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 มาจนถึงปัจจุบัน

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของศูนย์วิจัยฯ จากการเข้าร่วมประกวดในโครงการ “Green Office work place และ 5ส ต่อเนื่อง” ประจำปี 2567 ได้แก่

  • ได้รับรางวัลที่ 1 ในกลุ่มสำนักงาน/คลัง
  • ได้รับรางวัลที่ 2 ในกลุ่มห้องปฏิบัติการ/Lab