เกี่ยวกับภาควิชา
จุลชีววิทยา
ประวัติความเป็นมาของหน่วยงาน (โดยย่อ)
ภาควิชาจุลชีววิทยา เดิมชื่อว่า “แผนกบักเตรีวิทยา” เป็นหนึ่งใน 16 ภาควิชาของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งมีการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยจัดตั้งเป็น แผนกทันตแพทยศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2483 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งขณะจัดตั้งครั้งแรกยังไม่มีแผนกบักเตรีวิทยา นิสิตทันตแพทย์ต้องอาศัยเรียนร่วมกับนิสิตแพทย์ และเภสัช โดยผู้สอนเป็นแพทย์ หลังจากปี พ.ศ.2492 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้จัดแบ่งแผนกและดำเนินการเรียนการสอนเอง ต่อมาในปี พ.ศ.2505 คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ทำการปรับปรุง แบ่งส่วนราชการโดยพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็น 12 แผนก โดย “แผนกบักเตรีวิทยา” ก็เป็นแผนกหนึ่งในจำนวนนี้ มีหน้าที่จัดการศึกษาและส่งเสริมการวิจัยในวิชาบักเตรีวิทยา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2515 คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ย้ายสังกัดจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซึ่งเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล มาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีนั้นได้เปลี่ยนชื่อจาก “แผนกบักเตรีวิทยา” เป็น “แผนกจุลชีววิทยา” เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2515 เพื่อให้สอดคล้องกับสากลนิยม ทั้งนานาประเทศ และภายในประเทศ ต่อมาภายหลังมีการใช้คำว่า “ภาควิชา” แทนคำว่า “แผนกวิชา” จึงกลายมาเป็น “ภาควิชาจุลชีววิทยา” จนถึงปัจจุบัน
ผลการดำเนินการของภาควิชาที่ผ่านมา
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนและงานวิจัย มีการนำมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษามาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และได้เริ่มใช้มาตรฐานการประเมินตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 โดยภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐาน ซึ่งเน้นการศึกษาด้านวิชาการ วิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ภาควิชาจุลชีววิทยา มีการปรับปรุงโครงสร้างเนื้อหาของรายวิชาและการเรียนการสอนในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต (ท.บ.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพของบัณฑิตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสภาวิชาชีพ และความต้องการของสังคมและผู้เรียน โดยในปีการศึกษา 2567 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่มีการเปิดสอนในปัจจุบัน ภาควิชาฯ ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนในลักษณะการเรียนเชิงรุก (active learning) การนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ มาเป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอน และการบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีพของนิสิต
ในด้านงานวิจัย ภาควิชาฯ ได้มีการพัฒนาบุคลากร และอุปกรณ์เครื่องมือวิจัยที่ทันสมัย และได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยทางจุลชีววิทยาช่องปากและภูมิคุ้มกันวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และพัฒนาเป็น ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจุลชีววิทยาช่องปากและภูมิคุ้มกันวิทยา ในปี พ.ศ. 2565 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรัชฎาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์ในภาควิชาฯ ได้ร่วมกันดำเนินงานวิจัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนิสิตทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต และบัณฑิตศึกษาของหลักสูตรต่างๆ ในคณะทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรสหสาขาวิชาจุลชีววิทยาทางการแพทย์ บัณฑิตวิทยาลัย และมีความร่วมมือดำเนินงานวิจัยร่วมกับนิสิตและคณาจารย์จากต่างคณะ และต่างมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และมีนิสิตได้รับรางวัลผลงานวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
อาจารย์ประจำ (2566)
- รศ.ทพญ.ดร. รัชนี อัมพรอร่ามเวทย์ (หัวหน้าภาควิชา)
- รศ.ทพ.ดร. กิตติ ต.รุ่งเรือง
- รศ.ทพญ.ดร. อรนาฎ มาตังคสมบัติ
- รศ.ทพญ.ดร. อัญชลี วัชรักษะ
- รศ.ทพญ.ดร. พนิดา ธัญญศรีสังข์
- รศ.ทพญ.ดร. พัชรี ฤทธิ์ประจักษ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา