Home/ภาควิชา/ภาควิชาปริทันตวิทยา

ความรู้สู่ประชาชน

จัดทำโดยภาควิชาปริทันตวิทยา
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง

จากกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ 
RR99 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วีดิทัศน์ความรู้สู่ประชาชน

โรคปริทันต์ : สาเหตุและการป้องกัน

Periodontal Disease : Etiology and How to Prevent

ความสำคัญของอวัยวะปริทันต์

Periodontal Disease : Etiology and How to Prevent

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์อักเสบกับโรคทางระบบ: โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคเบาหวาน

The association between Periodontitis and Systemic diseases: Atherosclerosis and Diabetes Mellitus

a Thai version, supported by Sunstar, Quintessenz, and Chulalongkorn Dental School

mRNA นวัตกรรมพลิกโฉมการรักษาคืนสภาพฟื้นฟูเนื้อเยื่อในโรคปริทันต์อักเสบ

Innovative mRNA therapeutics for periodontal regeneration

เหงือกดี ฟันดี เราช่วยได้

เรื่อง 5 วิธีใช้น้ำยาบ้วนปากให้เกิดประโยชน์ จริงหรือ ?

โดย  ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์  อรัณยะนาค
รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ออกอากาศทางสำนักข่าวไทย ช่อง 9 MCOT
วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565

เรื่อง เตือนน้ำยาบ้วนปากที่ใช้แล้วฟันดำ จริงหรือ ?

โดย  ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์  อรัณยะนาค
รายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ออกอากาศทางสำนักข่าวไทย ช่อง 9 MCOT
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565

เรื่อง ไม่แปรงฟันเสี่ยงโรคหัวใจสมองเสื่อม ? : ชัวร์หรือมั่ว

โดย อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย
รายการ “วันใหม่วาไรตี้” ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

เรื่อง “โรคเหงือกบวมเหงือกอักเสบเกิดจากอะไร”

โดย ผศ.ทพญ.ศิริกาญจน์ อรัณยะนาค
รายการ ถาม หมอ มั้ย ล่ะ by DAZ
วันที่ 26 สิงหาคม 2564

เรื่อง “สุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ”

โดย ผศ.ทพญ.ดร.สุปรีดา ศรีธัญรัตน์
รายการ : ชาญชรา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT ช่อง 11
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

เรื่อง “เหงือกอักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล่น!”

โดย อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย
ออกอากาศผ่านช่อง youtube Anamai_NEWS (กรมอนามัย)
วันที่ 16 มิถุนายน 2564

328727902035153 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง โรคเหงือกเป็นอย่างไร ? อันตรายแค่ไหน ?

โดย อ.ทพ.ดร.อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย
ออกรายการเผยแพร่ให้ความรู้ทางเพจ Facebook “ฟันยังดี” กรมอนามัย
วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564

เรื่อง “ยาสีฟันยอดนิยมแบบ Whitening ?”

โดย อ.ทพญ.พิมพ์ชนก สุทธิบุณยพันธ์
รายการ : คุยเก่ง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
วันที่ 6 เมษายน 2564

เรื่อง แค่ขูดหินปูนถึงตาย!! จริงหรือ ?

โดย ผศ.ทพ.ขจร กังสดลาพิภพ
รายการ : ตื่นมาคุย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT
วันที่ 3 เมษายน 2557

ความรู้เรื่องฟัน และเหงือก

มาทำความรู้จักกับฟันและเหงือกก่อน ดีไหม ! การดำรงชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งในการรับประทานอาหารนั้น ฟันนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากฟันทำหน้าที่จับหรือฉีก อาหาร บดเคี้ยวอาหาร และเป็นส่วนประกอบเพื่อความสวยงามของใบหน้าและใช้ในการพูด
มนุษย์มีฟันอยู่ ๒ ชุด

ฟันน้ำนม

๑. ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มี ๒๐ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๐ ซี่ และฟันล่าง ๑๐ ซี่ เริ่มเห็นฟันซี่แรก ในปากเมื่อเด็กอายุ ๖ เดือน และจะขึ้นครบเต็มปากเมื่ออายุประมาณ ๒ ๑/๒ ขวบ ฟันน้ำนม ๒๐ ซี่นี้

ประกอบด้วยฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกราม ๘ ซี่ระยะการขึ้นและหลุดของฟันน้ำนม

ฟันบน

ขึ้น

หลุด

ฟันหน้าซี่กลาง

๗ ๑/๒ เดือน

๗ – ๘ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๙ เดือน

๘ – ๙ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๘ เดือน

๑๑ – ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๑๔ เดือน

๑๐ – ๑๑ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๒๔ เดือน

๑๐ – ๑๒ ปี

ฟันล่าง

ขึ้น

หลุด

ฟันหน้าซี่กลาง

๖ เดือน

๖ – ๗ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๗ เดือน

๗ – ๘ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๖ เดือน

๙ – ๑๐ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๑๒ เดือน

๑๐ – ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๒๐ เดือน

๑๑ – ๑๒ ปี

ฟันถาวร (ฟันแท้)

 ๒. ฟันถาวร (ฟันแท้) เป็นฟันชุดสุดท้ายมี ๓๒ ซี่ แบ่งเป็นฟันบน ๑๖ ซี่ และฟันล่าง ๑๖ ซี่ ฟันชุดนี้ มีฟันหน้า ๘ ซี่ ฟันเขี้ยว ๔ ซี่ ฟันกรามน้อย ๘ ซี่ ฟันกราม ๑๒ ซี่ ฟันแท้ซี่แรกเป็นฟันกราม ขึ้นเมื่ออายุ ๖ ปี ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายอาจขึ้นเร็วหรือช้า ง่ายหรือยากได้ต่าง ๆ กัน มีระยะเวลาการขึ้นจนกว่าจะเต็มซี่ ตั้งแต่อายุ ๑๘ - ๓๐ ปีระยะการขึ้นของฟันถาวร        

ฟันบน

ขึ้น

ฟันหน้าซี่กลาง

๗ – ๘ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๘ – ๙ ปี

ฟันเขี้ยว

๑๑ – ๑๒ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑

๑๐ – ๑๑ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒

๑๐ – ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๖ – ๗ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๑๒ – ๑๓ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๓

๑๗ – ๒๑ ปี

ฟันล่าง

ขึ้น

ฟันหน้าซี่กลาง

๖ – ๗ ปี

ฟันหน้าซี่ข้าง

๗ – ๘ ปี

ฟันเขี้ยว

๙ – ๑๐ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๑

๑๐ – ๑๒ ปี

ฟันกรามน้อยซี่ที่ ๒

๑๑ – ๑๒ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๑

๖ – ๗ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๒

๑๑ – ๑๓ ปี

ฟันกรามซี่ที่ ๓

๑๗ – ๒๑ ปี

ส่วนของฟันแต่ละซี่

ฟันแต่ละซี่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตัวฟัน (Crown) และรากฟัน (Root)

๑. ตัวฟัน คือ ส่วนที่สามารถมองเห็นได้ในปาก ซึ่งโผล่พ้นจากกระดูกขากรรไกรที่ฟันฝังตัวอยู่

๒. รากฟัน คือ ส่วนที่มองไม่เห็น เนื่องจากฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและยังถูกคลุมทับด้วยเหงือกอีกด้วย ฟันบางซี่ที่ ๑ ราก เช่น ฟันหน้า และบางซี่มี ๒ หรือ ๓ ราก เช่น ฟันกรามบริเวณที่ตัวฟันพบกับรากฟันเรียก

คอฟัน

๑. ตัวฟัน (Crown) ประกอบด้วย

๑.๑ เคลือบฟัน (Enamel) เป็นส่วนชั้นนอกที่สุดที่ปกคลุมตลอดส่วนตัวฟันไปถึงคอฟัน เคลือบฟันนี้แข็งที่สุดในร่างกายทำหน้าที่ป้องกันเนื้อฟัน เคลือบฟันมีสีขาวอมเหลืองจนถึงขาวอมเทา และมีลักษณะโปร่งแสง ฉะนั้น การที่คนเรามีฟันขาวหรือเหลืองกว่ากัน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงของเคลือบฟันมากน้อยต่างกัน บางคนฟันเหลืองกว่าอีกคน เนื่องจากมีเคลือบฟันบางกว่าและโปร่งแสงมากกว่า จึงทำให้เห็นส่วนเนื้อฟันชั้นใน (Dentin) ซึ่งมีสีเหลืองได้ชัดเจนกว่าอีกคน

๑.๒ เนื้อฟัน (Dentin) มีสีเหลืองอยู่ใต้เคลือบฟัน มีตลอดทั้งส่วนตัวและรากฟัน เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของฟัน ซึ่งมีการสร้างเนื้อฟันเพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต ซึ่งต่างกับเคลือบฟันที่ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้

๑.๓ โพรงประสาทฟัน (Pulp Cavity) เป็นช่องหรือโพรงอยู่ใจกลางตัวฟัน ช่องนี้ติดต่อกับคลองรากฟันด้วย โพรงประสาทฟันเป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อที่อยู่กันหลวม ๆ ประกอบด้วย เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟัน เส้นประสาทที่มาสู่ฟันและเซลล์ที่สร้างเนื้อฟันรวมทั้งหลอดน้ำเหลือง โพรงประสาทฟันทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากภายนอก และมี เนื้อเยื่อให้อาหารและความรู้สึกแก่เนื้อฟัน ซึ่งถ้ามีอันตรายจากภายนอกจะเป็นผลให้เกิดอาการปวดหรือเสียวฟันได้

๒. รากฟัน (Root) ประกอบด้วย

๒.๑ เคลือบรากฟัน (Cementum) มีสีเหลืองอ่อนเป็นส่วนชั้นนอกสุดของรากฟัน หุ้มรากฟันไว้ ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกัน แต่ทำหน้าที่เป็นที่ยึดของเอ็นปริทันต์ให้รากฟันติดกับกระดูก เคลือบรากฟันนี้ จึงอ่อนกว่าเคลือบฟัน (Enamel)

๒.๒ เนื้อฟัน (Dentin) เหมือนกับเนื้อฟันซึ่งเป็นชั้นกลาง ในส่วนตัวฟัน อยู่ถัดจากเคลือบรากฟัน

๒.๓ โพรงรากฟัน เรียก คลองรากฟัน (Root Canal) อยู่ใจกลางรากฟัน และติดต่อกับโพรง ประสาทฟัน ตรงปลายรากฟันจะเป็นรูเปิดให้คลองรากฟันติดต่อกับเนื้อเยื่อภายนอก รูเปิดนี้เป็นทางผ่านเส้นเลือด เส้นประสาท และหลอดน้ำเหลือง ซึ่งแยกมาจากร่างกายส่วนขากรรไกรและใบหน้า เส้นเลือดดำจะไปต่อกับเส้นเลือดดำใหญ่ภายนอกทำให้เลือดจากภายในฟันเข้าสู่วงจรโลหิตติดต่อกันทั่วร่างกาย ฉะนั้นถ้ามีฟันผุลึกถึงคลองรากฟันจะมีโอกาสให้เชื้อโรคกระจายไปสู่อวัยวะสำคัญได้ เช่น สมอง หัวใจ และไต เป็นต้น

อวัยวะรอบฟัน

รากฟันแต่ละซี่ ฝังแน่นอยู่ในกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเอ็นยึดปริทันต์ (Periodontal Ligament) ยึด จากเคลือบรากฟัน ไปยังกระดูกเบ้าฟัน นอกจากนั้นจะมีเหงือกรัดแน่นรอบคอฟันและหุ้มกระดูกเบ้าฟัน โดยมีเส้นใยเหงือก (Gingival Fiber) รัดแน่นระหว่างเหงือกและฟัน เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรืออันตรายใด ๆ ผ่านเหงือกลงไปสู่อวัยวะข้างใต้ได้ แต่ระหว่างเหงือกกับฟันจะมีร่องลึก ๐.๕-๓ ม.ม. โดย รอบเรียกว่าร่องเหงือก (Gingival Sulcus หรือ Gingival Crevice) เหงือกปกติจะมีสีชมพูซีดรัดแน่นรอบ คอฟัน ถ้าคนทีมีสีผิวคล้ำเหงือกอาจมีสีคล้ำได้

เหงือกแบ่งออกเป็น ๓ บริเวณ
๑. ขอบเหงือก (Marginal Gingiva) คือเหงือกส่วนที่ล้อมรอบคอฟัน เป็นส่วนผนังของร่องเหงือก มีลักษณะบางแนบกับคอฟัน
๒. เหงือกยึด (Attached Gingiva) คือเหงือกส่วนที่ยึดติดกับฟันและกระดูกเบ้าฟัน เหงือกส่วนนี้ต่อมาจากขอบเหงือก ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะข้างใต้ เหงือกยึดมีสีชมพูซึดและมีความกว้างตั้งแต่ ๑-๖ ม.ม.
๓. เหงือกสามเหลี่ยมระหว่างฟัน (Interdental Papilla) คือขอบเหงือกที่อยู่ระหว่างซี่ฟัน 

โรคปริทันต์

โรคปริทันต์คืออะไรและมีสาเหตุมาจากอะไร

สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียฟันไปก่อนกำหนด คือ
๑. โรคฟันผุ
๒. โรคปริทันต์
โรคฟันผุนั้นปรากฎอาการให้เห็น และรู้สึกได้ง่ายและเร็วกว่า “โรคปริทันต์” ฉะนั้นเราจึงรู้จัก โรคฟันผุดีกว่า บางคนอาจไม่รู้จักโรคปริทันต์ แต่ถ้าพูดว่า “โรคเหงือก โรครำมะนาด” อาจจะทำให้รู้จักมากขึ้น
“ปริ” แปลว่า “รอบ ๆ”

“ทันต์” แปลว่า “ฟัน” ดังนั้นโรคปริทันต์จึงหมายถึง โรคที่เกิดกับอวัยวะรอบฟัน นั่นคือเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน
โรคปริทันต์ ในระยะแรก ๆ นั้นมักไม่ใคร่เจ็บปวด ฉะนั้นเราจึงอาจไม่ได้สังเกตุอาการที่เริ่มทีละน้อย เช่น เหงือกเริ่มบวดฉุ ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ หรือแม้แต่การที่มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน บางครั้งอาจนึกว่าอายุมากขึ้นเหงือกจะร่นขึ้นไปตามวัย ๔ ใน ๕ ของคนในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่มักเป็นโรคปริทันต์ โดยที่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์เราสูญเสียฟัน โดยมีสาเหตุจาก “โรคปริทันต์” มากกว่าสาเหตุอื่น ๆ อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์ส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจพบและรีบรักษาในระยะแรก ๆ

สาเหตุที่สำคัญของโรคปริทันต์ คือ

คราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque)คราบจุลินทรีย์ คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ซึ่งแม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากมายในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้าง กรด และสารพิษ กรด จะทำลายเคลือบฟันทำให้ ฟันผุ

สารพิษ จะทำให้เหงือกอักเสบเกิด โรคปริทันต์ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มากโดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถจะเห็นและรู้สึกเมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน หินปูนหรือหินน้ำลาย  คือ คราบจุลินทรีย์ที่แข็งเนื่องจากมีธาตุแคลเซี่ยมจากน้ำตาลเข้าไปตกตะกอน อย่างไรก็ตามบนพื้นผิวของหินปูนยังมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมอยู่ ฉะนั้นหินปูนที่มีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมจึงเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ได้ หินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่หินปูนที่อยู่ในร่องเหงือกจะมองไม่เห็น โดยเหตุที่คราบจุลินทรีย์จะค่อย ๆ แข็งตัว ดังนั้นจึงควรกำจัดคราบจุลินทรีย์เสียก่อนที่จะแข็งเป็นหินปูน เพราะวิธีทำความสะอาดฟันด้วยตนเองนั้นไม่สามารถกำจัดหินปูนออกได้ ทันตแพทย์เท่านั้นที่สามารถกำจัดหินปูนออกได้

อย่าลืมว่า "ท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์เหนียว ๆ ออกจากฟันไดด้วยตนเอง"

แต่ "ท่านไม่สามารถเอาหินปูนออกเองได้ หรือเอาคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกออกได้"

สาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์

  1. การมีเศษอาหารติดแน่นหรือค้างตามซอกฟัน และตัวฟัน เนื่องจาก
  2. การมีขอบวัสดุอุดฟันเกินออกมา ทำให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ และขัดขวางการทำความสะอาด เช่น ทำให้เส้นใยไนล่อนขาดระหว่างการทำความสะอาดซอกฟัน
  3. การมีฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป หรือไม่ถูกต้อง เช่น การมีเหงือกอักเสบใต้ฟันปลอมที่หลวม
  4. สาเหตุร่วมทางร่างกายที่ทำให้โรคปริทันต์เป็นรุนแรงขึ้น เช่นระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ และหมดประจำเดือน ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่อยู่ในวัยดังกล่าว ถ้ามีสภาพเหงือกที่แข็งแรงอยู่แล้ว จะไม่เป็นโรคปริทันต์ แต่ถ้ามีการอักเสบของเหงือกอยู่จะทำให้เป็นมากขึ้นกว่าปกติ
  5. สาเหตุร่วมทางร่างกายอื่น ๆ อาจเกิดจากการขาดอาหารบางชนิด โรคทางด้านจิตใจ โรคลมบ้าหมู ซึ่งผู้ป่วยรับประทานยาพวก Dilantin (มีแนวโน้มทำให้เหงือกโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรักษาความสะอาดไม่ดี) โรคเลือดต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่ร่างกายมีความต้านทานและการซ่อมแซมต่ำ เป็นต้น

ขั้นตอนการเกิดโรคปริทันต์

ท่านมีอาการอย่างนี้บ้างหรือไม่

เลือดออกขณะแปรงฟัน
เหงือกบวมแดง
มีกลิ่นปาก
เหงือกร่นมีหนองออกจากร่องเหงือก
ฟันโยก
ฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน ถ้าท่านมีอาการดังกล่าว แสดงว่า โรคปริทันต์ได้มาเยี่ยมเยียนท่านแล้ว ถ้าท่านละเลยการทำความสะอาดฟัน จะทำให้มีคราบจุลินทรีย์สะสมบนตัวฟันมากขึ้น ทำให้เกิดโรคปริทันต์ได้โรคปริทันต์นั้นขบวนการที่เกิดต่อเนื่องกัน แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงแยกออกเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 เหงือกอักเสบ บวม แดง ปกติเหงือกจะมีสีชมพูซีด และรัดแน่นรอบคอฟัน มีร่องเหงือกลึกประมาณ 0.5-3 มม. การวัดความลึกของร่องเหงือกใช้เครื่องมือเรียก เครื่องมือตรวจปริทันต์ (Periodontal Probe) เมื่อมีคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นบนตัวฟัน โดยเฉพาะใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก ทำให้สารพิษซึ่งอยู่ในคราบจุลินทรีย์ซึมผ่านเข้าไปในเหงือกได้ จึงเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น การอักเสบทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับฟัน ทำให้คราบจุลินทรีย์สามารถเข้าไปในร่องเหงือกง่ายขึ้น และทำอันตรายมากขึ้น ร่างกายจะต่อสู้โดยส่งเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้หลอดเลือกบริเวณนั้นขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึงบวม แดง และมีการอักเสบ ดังนั้นเมื่อโดนแปรงหรือแรงกดใดเพียงเบา ๆ จะทำให้เลือดออกได้ การให้การรักษาที่ถูกต้องและการรักษาสุขภาพช่องปากอย่างดีในระยะแรกนี้ สามารถหยุดโรคเหงือกอักเสบนี้ได้อย่างสิ้นเชิง เหงือกสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้

ขั้นที่ 2 ถ้าละเลยให้มีคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้น จะทำให้คราบจุลินทรีย์บุกรุกเข้าไปในร่องเหงือกมากขึ้นไปอีก ร่องเหงือกก็จะลึกยิ่งขึ้นเนื่องจากเกิดการทำลายของเส้นใยเหงือก ถ้าร่องเหงือกลึกเกิน 3 ม.ม. เรียกร่องเหงือกนั้นว่า ร่องลึกปริทันต์ (Periodontal Pocket) ซึ่งร่องลึกปริทันต์นี้ทำความสะอาดได้ยากมาก และจะทำความสะอาดเองไม่ได้เลย เมื่อคราบจุลินทรีย์เปลี่ยนเป็นหินปูน สารพิษจากคราบจุลินทรีย์ในร่องลึกปริทันต์ 4 ม.ม. สามารถทำลายกระดูกใกล้เคียงได้ การรักษาโดยการขูดหินปูนและทำให้รากฟันเรียบปราศจากสารพิษร่วมกับการทำความสะอาดฟันอย่างถูกต้องจะทำให้การดำเนินของโรคช้าลง หรือหยุดได้ แต่เหงือกและกระดูกไม่สามารถจะกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์

ขั้นที่ 3 คราบจุลินทรีย์สะสมลึกมากขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน และร่องลึกปริทันต์จะเลื่อนไปทางปลายรากฟันมากขึ้น จะมีหนองเกิดภายในร่องลึกปริทันต์ซึมเข้าไปภายในช่องปาก ทำให้มีกลิ่นปาก การรักษาร่วมกับการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ยังคงหยุดการดำเนินของโรคในขั้นนี้ได้

ขั้นที่ 4 ในขั้นนี้จะมีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟันไปประมาณครึ่งหนึ่ง และเหงือกจะร่นตามไปด้วย ทำให้เห็นฟันยาวขึ้นบางครั้งเหงือกจะไม่ร่นตามกระดูก แต่จะใหญ่ขึ้นเพราะมีการอักเสบระยะนานทำให้มักเข้าใจผิดไปว่าปกติ อันที่จริงแล้วมีโรคอยู่ข้างใต้ จะมีอาการปวด บวม เป็นฝี เนื่องจากการระบายหนองออกจากร่องลึกปริทันต์ติดขัดเมื่อฝีแตกก็จะหายปวด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะหายขาด จะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เช่นนี้ จนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีการละลายของกระดูกมากขึ้น ทำให้ฟันโยกมากขึ้นในที่สุดจะถึงขั้นที่ 5

ขั้นที่ 5 ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย เนื่องจากมีการละลายของกระดูกเบ้าฟันมากจนเกือบถึงปลายรากฟัน โยกมาก เพราะไม่มีกระดูกมายึดไว้ซึ่งในขั้นนี้ไม่สามารถให้การรักษาใด ๆ ได้ นอกจากต้องถอนฟันซี่นั้นไป

การรักษาโรคปริทันต์

โรคปริทันต์นั้นมักไม่เจ็บปวด เมื่อเป็นระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงต้องให้ความสนใจมากพอควร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียอันเนื่องจากโรคปริทันต์ อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และแม้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

การรักษาโรคปริทันต์นั้น แบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

  1. การสอนให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ให้ผู้ป่วยรู้จักโรคปริทันต์ การเกิด สาเหตุและวิธีป้องกัน ดังได้กล่าวแล้ว ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในการทำความสะอาดฟันและซอกฟัน ตามวิธีที่ทันตแพทย์อธิบาย ทั้งนี้เพราะการรักษาโรคปริทันต์นั้นต้องมีการร่วมมืออย่างดีระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์ เพราะคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปริทันต์นั้นเกิดขึ้นในช่องปากของผู้ป่วยทุกวัน เป็นไปไม่ได้ที่ทันตแพทย์จะกำจัดคราบนั้นให้ผู้ป่วยได้ทุกวัน ฉะนั้นการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นกับความสามารถของทันตแพทย์ครึ่งหนึ่งและขึ้นกับความสามารถของผู้ป่วยในการรักษาความสะอาดฟันครึ่งหนึ่ง
  2. การขูดหินปูน (Scaling)กำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูน และสิ่งสกปรกในร่องเหงือก ร่องลึกปริทันต์ (ร่องเหงือกที่ลึกกว่า 3 ม.ม.) นั่นคือต้องขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือกจากนั้นทำรากฟันให้เรียบ (Root Planing) ปราศจากสารพิษใด ๆ เพื่อให้เส้นใยเหงือกและเอ็นยึดปริทันต์กลับยึดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม

ดังนั้น การขูดหินปูนให้หมดจริง ๆ จึงต้องใช้เวลาพอสมควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ความแข็งแรงของหินปูน เป็นต้น

หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพปกติหรือยัง มีเลือดออกเวลาแปรงฟันและเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์หรือไม่ ความลึกของร่องลึกปริทันต์ตื้นขึ้นหรือเข้าสู่สภาวะปกติหรือไม่ ถ้ายังมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรจะทำการผาตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับความร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลยไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับเป็นโรคปริทันต์ได้อีก

  1. การทำศัลยปริทันต์ (Periodontal Surgery)

ในกรณีผู้ป่วยร่วมมือดีและร่างกายแข็งแรง แต่ยังมีร่องลึกปริทันต์อยู่ ซึ่งถ้าร่องเหงือกเกิน 3 ม.ม. นั้น แม้ผู้ป่วยจะร่วมมือทำความสะอาด อย่างไรก็ตามไม่สามารถทำความสะอาดร่องลึกนั้นได้เอง ซึ่งถ้าทิ้งไว้จะทำให้อาการของโรคปริทันต์เกิดขึ้นได้อีก ฉะนั้นทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคปริทันตวิทยา (Periodontist) จะเป็นผู้ทำการผ่าตัดรักษาต่อไป เพื่อกำจัดร่องลึกปริทันต์นั้นให้ลึกเท่าปกติคือประมาณไม่เกิน 3 ม.ม. ให้เหงือกกลับสู่สภาพที่แข็งแรง รัดแน่นรอบตัวฟัน และมีการสร้างเส้นใยเหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟันที่แข็งแรงได้ ในปัจจุบันมีวิทยาการก้าวไกลทั้งวิธีการผ่าตัด วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถสร้างคืนอวัยวะปริทันต์ที่สูญเสียไป และสามารถที่จะทำศัลยกรรมตกแต่งเหงือกของท่านได้ เช่นปิดเหงือกร่นเนื่องจากการแปรงฟันผิดวิธี ตกแต่งเหงือกที่ใหญ่เกินไปทำให้ทำความสะอาดได้ยาก หรือเติมสันเหงือกที่ยุบได้ ทั้งนี้มิใช่ทำได้ทุกกรณี ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อกำจัดหรือลดร่องลึกปริทันต์ ปัจจุบันมีการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ใส่ในร่องลึกปริทันต์โดยมีรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งยังต้องการวิจัยต่อไปอีก

  1. การบำรุงรักษา(Maintenance)

เป็นสิ่งจำเป็นมาก ผู้ป่วยควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจสภาพเหงือกและฟันหลังการรักษาและควรร่วมมือในการรักษาความสะอาดฟันและอวัยวะในช่องปาก โดยการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอในระยะแรกหลังการขูดหินปูนหรือการผ่าตัดควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้อย่างดี และไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูน ภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย ถ้าผู้ป่วยยอมรับการบำรุงรักษาเหงือกและฟันโดยกลับมาตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์แนะนำ ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์มากมาย โดยที่ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวอาหารได้อย่างสบาย ยิ้มและพูดด้วยความมั่นใจ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่ารักษาในอนาคตลงได้อย่างมากสรุป

ท่านสามารถป้องกันโรคฟันผุและโรคปริทันต์ได้โดยกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากของท่านด้วยการ

  1. แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอก การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมากแต่ถ้ายังไม่สามารถกระทำได้ ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร
  2. ทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงอาหารหวาน ๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ
  4. พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่หลงเหลือจากการทำความสะอาดของท่านเองและรับการรักษาระยะเริ่มแรกก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่านไปเนื่องจากโรคฟันผุ และโรคปริทันต์ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ท่านจะมีสุขภาพฟันและเหงือกที่ดีตลอดไป…

ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้หรือไม่ ?

         เนื่องจากคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าท่านสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างถูกต้อง ท่านสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้แน่นอน โรคปริทันต์จะไม่เกิดขึ้น ถ้าท่าน

        1.   แปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันอย่างถูกต้องเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์

        2.   พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่หลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ มีฟันผุหรือไม่ จะได้รับการรักษาได้ในระยะเริ่มแรก

การป้องกันโรคปริทันต์

ทำอย่างไรท่านจึงจะมีฟันและเหงือกที่มีสุขภาพดีตลอดไป ?

         ฟันและเหงือกจะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ จะต้องปราศจากคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ซึ่งเกิดขึ้นในช่องปากทุกวัน ท่านจะต้องมีวิธีการที่ถูกต้องที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์นั้น ๆ ซึ่งวิธีการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ในระยะแรก ๆ อาจทำให้เบื่อหน่าย เมื่อย ใช้เวลามาก แต่ขอให้ระลึกเสมอว่าถ้าไม่สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ด้วยตนเองแล้ว ท่านจะหนีโรคปริทันต์ไม่พัน ฉะนั้นจึงควรมีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะเริ่มศึกษาและฝึกฝนวิธีการกำจัดคราบจุลินทรีย์ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

วิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ ประกอบด้วย3

การทำความสะอาดฟัน นั่นคือ การแปรงฟัน

การทำความสะอาดซอกฟันรวมทั้งการนวดเหงือก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การใช้เส้นใยขัดฟัน (Flossing) ปุ่มยางนวดเหงือก (Rubber Tip) แปรงระหว่างซอกฟัน (Proxa Brush, Interdental Brush) ผ้าก๊อซ (Gauze Strip) ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent)

การแปรงฟัน

ปัจจุบันทานแปรงฟันของท่านแบบไหน ?

       แปรงขึ้น ๆ ลง ๆ หรือแปรงขวางไปตามแนวราบ ถ้าท่านแปรงด้วยวิธีดังกล่าว ควรเปลี่ยนวิธีเสีย เพราะการแปรงขึ้น ๆ ลง ๆ ทำอันตรายต่อเหงือกของท่าน ทำให้เหงือกร่นหรือถ้าแปรงขวางจะทำให้ฟันสึก โดยเฉพาะเมือท่านใช้แปรงแข็งและใช้ยาสีฟันที่หยาบ เป็นผง ก่อนอื่นท่านควรรู้จักลักษณะที่ถูกต้องของแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สีย้อมคราบจุลินทรีย์

แปรงสีฟัน

ส่วนใหญ่คนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าขนแปรงสีฟันยิ่งแข็งยิ่งดี เพราะสามารถกำจัดสิ่งสกปรกออกได้ดี ซึ่งที่จริงกลับทำอันตรายต่อเหงือกและฟันเป็นอย่างยิ่ง

แปรงสีฟันที่ดีควรจะมีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม ทำด้วยไนล่อน เพราะมีลักษณะและขนาดเหมือนกันหมด ส่วนปลายของเส้นไนล่อนมนและเรียบเพื่อไม่ให้บาดเหงือก นอกจากนี้ยังคงสภาพเดิม มีสปริงดีเมื่อถูกน้ำ และรักษาความสะอาดได้ง่าย หัวแปรงควรมนกรม มีขนาดเล็กพอเหมาะ และสามารถทำความสะอาดได้ทุกบริเวณในปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้ามแปรงควรตรงและยาวพอเพื่อการจับที่มั่นคง อายุการใช้งานของแปรงควรใช้ประมาณ 3 เดือน หรือเมื่อรูปร่างของขนแปรงบิดเบี้ยว หรือบานจากปกติ หลังการใช้แปรงทุกครั้งต้องล้างให้สะอาดและผึ่งไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และสะอาด

แปรงสีฟันไฟฟ้า

มีอยู่หลายชนิด และมีวิธีการใช้ต่างกัน ซึ่งผู้ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้องจึงจะมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์มักแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า สำหรับผู้ที่ไม่สามรถใช้มือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นผู้ป่วยเป็นโรคปวดตามข้อ คนพิการ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่สามรถแปรงด้วยตนเองได้ เด็กเล็ก ๆ และที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน

ยาสีฟัน

ในการแปรงฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์นั้น วิธีการแปรงฟันอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ยาสีฟันเป็นเพียงส่วนช่วยในการทำความสะอาดและขัดพื้นผิวฟัน และเป็นสื่อกลางในการใส่สารต่าง ๆ เช่นฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ สารลดการเสียวฟัน สารลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนเป็นต้น แต่การที่ใส่สารเคมีหรือสมุนไพรบางชนิดเพื่อป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ หินปูน และอาการเหงือกอักเสบนั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสีฟันประเภทขัดฟันขาว (Whitening Toothpaste) และขัดคราบบุหรี่ ยาสีฟันประเภทนี้ถ้ามีผงขัดหยาบกว่าปกติหรือผสมผงขัดมากกว่ปกติมีคุณสมบัติ ขัดผิวเคลือบฟันสูงกว่ายาสีฟันธรรมดา ซึ่งถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจมีผลทำให้ผิวเคลือบฟันบางลงและเสียวฟันได้ นอกจากนี้ยาสีฟันที่ช่วยทำให้ฟันขาวขึ้นอาจผสมสารเคมีประเภท Peroxide เพื่อช่วยฟอกสีฟันให้ขาวขึ้น ดังนั้นในการใช้ยาสีฟันนี้จึงควรได้รับการแนะนำและดูแลจากทันตแพทย์อย่างดี เพราะสาร Peroxide มีฤทธิ์กัดกร่อน อาจทำอันตรายต่อเหงือก และทำให้เสียวฟันได้ การที่มีฟันเหลือง ฟันสีน้ำตาล ฟันตกกระ ฟันเปลี่ยนสี ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามยาสีฟันที่ใช้ควรเป็นครีมที่ละเอียด ไม่ควรหยาบหรือเป็นผงเพราะจะทำให้ฟันสึก การใส่ยาสีฟันควรใส่ลงไประหว่างขนแปรง เพื่อให้ยาสีฟันได้สัมผัสกับตัวฟัน ไม่ใส่บนขน แปรงเพราะยาสีฟันจะหลุดออกไปเสียก่อน

วิธีการแปรงฟัน

การแปรงฟันเป็นขั้นตอนสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก เพราะเป็นวิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคปริทันต์ การแปรงฟันมีหลายวิธี แต่ยังไม่มีวิธีใดเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน จากการศึกษาพบว่าในการสอนแปรงฟันในชุมชนนั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงใมนการทำความสะอาดเหงือกและตัวฟัน โดยเฉพาะในร่องเหงือก และใช้เวลาน้อยนั้น คือวิธีมอดิฟายด์แบส (Modified Bass Method) ซึ่งต้องใช้แปรงขนอ่อน (Soft) และมีขั้นตอน ดังนี้

      วางแปรงที่บริเวณคอฟันและขอบเหงือก ขนแปรงทำมุม 45 องศา กับแกนยาวของฟัน ชี้เฉียงไปทางปลายรากฟัน

      กดปลายของขนแปรงให้เข้าไปในร่องเหงือกและซอกฟันออกแรงสั่นเบาๆ ตามแนวราบด้วยระยะทางสั้น ๆ กลับไปกลับมาโดยที่ขนแปรงยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเน้นการแปรงที่บริเวณคอฟันที่อยู่ชิดขอบเหงือก ซึ่งเป็นจุดสำคัญ และเป็นการนวดเหงือกด้วย

      จากนั้นจึงค่อยบิดข้อมือให้ขนแปรงม้วนปัดมาทางด้านบดเคี้ยวของฟัน ทำดังนี้ซ้ำ ๆ กัน ตำแหน่งละ 6 ครั้ง

เนื่องจากบริเวณฟันหน้าและฟันเขี้ยวเป็นตำแหน่งความโค้งของกระดูกขากรรไกร ดังนั้นเมื่อแปรงฟันหน้าและฟันเขี้ยวด้านใน จึงต้องวางแปรงดังรูปที่ 16 แต่หลักการแปรงเหมือนที่กล่าวมาแล้ว

      สำหรับการแปรงฟันด้านบดเคี้ยว ให้วางแปรงตั้งฉากกับด้านบดเคี้ยวของฟันแล้วถูกเข้าถูออกเป็นช่วงสั้น ๆ

      นอกจากนี้ความทั่วถึงในการแปรงฟันมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าจะแปรงถูกวิธีแต่ละเลยบางตำแหน่งไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการแปรงฟันไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นจึงควรเริ่มแปรงที่ด้านนอกของฟันบนและฟันล่างให้หมด แล้วจึงเริ่มต้นแปรงด้านในของฟันบนและล่าง จากนั้นจึงแปรงด้านบดเคี้ยวและควรแปรงลิ้นด้วยเพื่อกำจัดคราบต่าง ๆ ที่สะสมบนลิ้น เนื่องจากบริเวณลิ้นมีตุ่มรับรสเล็ก ๆ อยู่มากทำให้มีซอกเล็ก ๆ บนลิ้นซึ่งจะเป็นที่เก็บกักเชื้อโรคได้

      ท่านควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือเช้า และก่อนนอน การแปรงฟันก่อนนอนเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง เพราะระหว่างการนอนจะไม่มีการเคลื่อนไหวภายในช่องปาก ทำให้คราบจุลินทรีย์มาสะสมบนตัวฟันมาก การเคลื่อนไหวภายในช่องปาก เช่นการเคี้ยวอาหาร การพู จัดเป็นขบวนการทำความสะอาดเองโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้งหลังอาหาร

การทำความสะอาดซอกฟัน

       โรคปริทันต์ที่รุนแรงมักเกิดบริเวณซอกฟัน ซึ่งแปรงไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ จึงมักมีผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ทั้ง ๆ ที่แปรงฟันอย่างดี แต่มิได้ทำความสะอาดซอกฟันการทำความสะอาดซอกฟัน มีหลายวิธีซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเหงือกของแต่ละคน
  1. การใช้เส้นใยขัดฟัน (Flossing) เป็นวิธีทำความสะอาดซอกฟันที่ดีวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีเหงือกปกติโดยมีเหงือกสามเหลี่ยมอยู่เต็มระหว่างซอกฟัน ไม่มีเหงือกร่น การใช้เส้นใยขัดฟัน ควรใช้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งชนิดของเส้นใย มี แบบเคลือบขี้ผึ้ง (Waxed) ซึ่งเหมาะที่ใช้กับฟันที่สัมผัสกันไม่แน่นมาก และแบบไม่เคลือบขี้ผึ้ง (Unwaxed) เหมาะสำหรับฟันที่สัมผัสกันแน่นมาก และสำหรับผู้ที่เริ่มใช้ครั้งแรก อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แบบ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันถ้าใช้อย่างถูกต้อง การใช้เส้นใยถ้าใช้ไม่ถูกจะทำอันตรายต่อเหงือก ปกติเส้นใยไม่ควรขาดขณะใช้ แต่ถาเส้นใยขาดอยู่เสมอบริเวณใด แสดงว่าฟันที่อุดไว้บริเวณนั้นมีปัญหา ควรรีบแก้ไข

วิธีใช้เส้นใย ดึงเส้นใยมายาว 12-15 นิ้ว พันปลายยึดไว้กับนิ้วกลาง 2 ข้าง จนกระทั่งเหลือความยาวของเส้นใยระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ 4-5 นิ้ว ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วควบคุมบังคับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดในการขัดทำความสะอาดซอกฟันแต่ละตำแหน่งในช่องปาก เริ่มต้นด้วยการดึงเส้นใยให้ตึงค่อย ๆ ถูไปมาให้ผ่านจุดสัมผัสของฟัน ห้ามใช้แรงกดผ่านจุดสัมผัสโดยตรง เพราะอาจยั้งมือไม่อยู่และบาดเหงือกได้ เมื่อผ่านจุดสัมผัสเข้าไปอยู่ระหว่างฟันสองซี่แล้ว โอบเส้นใยให้แนบกับด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง ใช้นิ้วบังคับให้เส้นใยขัดจากขอบเหงือกมาด้านบดเคี้ยวแล้วกลับมาวางตั้งต้นที่ขอบเหงือกใหม่ ก่อนที่จะขัดไปทางด้านบดเคี้ยวอีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้ซ้ำฟัน 6 ครั้ง ระหว่างจัดสัมผัสและขอบเหงือก วัตถุประสงค์ของการที่ให้เส้นใยโอบฟัน เพื่อให้แรงถ่ายทอดลงบนตัวฟันโดยตรง ไม่ไปบาดเหงือกและเพื่อให้เส้นใยครอบคลุมพื้นที่ได้มาก เมื่อขัดด้านข้างของฟันซี่หนึ่งเสร็จแล้วจึงหันมาโอบด้านข้างของฟันอีกซี่หนึ่ง ขัดเหมือนเดิม 6 ครั้ง ทุก ๆ ซอกฟัน จะต้องขัด 2 ด้านด้วยกัน ด้านข้างของฟันซึ่งปราศจากซี่ข้างเคียงก็ควรต้องขัดเช่นเดียวกัน บางคนใช้เครื่องจับเส้นใยสำเร็จ (FlossHolder) แทนการพันนิ้วมือ แต่ผลการใช้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่สามารถโอบรอบซี่ฟันทำให้บาดเหงือกเป็นร่องได้ การใช้นิ้วมือมีประสิทธิภาพดีกว่ามากถ้าใช้ถูกวิธี

  1. การใช้เส้นใยขัดฟันพิเศษ (Superfloss) เส้นใยขัดฟันพิเศษ คือ เส้นใยขัดฟันที่ใช้บริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน (ฟันครอบชนิดติดแน่น)

วิธีใช้ สอดส่วนปลายที่แข็งผ่านซอกฟันที่ใส่ไว้ แล้วดึงส่วนที่เป็นฟองน้ำมาโอบแนบด้านข้างของฟันที่ครอบโดยใช้นิ้วบังคับขัดจากของเหงือกไปด้านบดเคี้ยว 6 ครั้ง จากนั้นใช้ฟองน้ำทำความสะอาดใต้สะพานฟันที่ใส่ แล้โอบแนบเพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่ครอบอีกซี่หนึ่ง ส่วนเส้นใยที่เหลือใช้ทำความสะอาดซอกฟันเช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟันปกติ

ท่านอาจใช้ห่างพลาสติกคล้องเส้นใยขัดฟัน (Floss Threader) เพื่อทำความสะอาดบริเวณที่ใส่สะพานครอบฟัน ได้เช่นกัน

  1. ปุ่มยางนวดเหงือก(Rubber tip) นอกจากการใช้เส้นใยขัดฟันในการทำความสะอาดซอกฟันแล้วยังสามารถใช้ปุ่มยางนวดเหงือกได้ ในกรณีที่เหงือกปกติ มีเนื้อเหงือกเต็มระหว่างซอกฟัน วิธีใช้วางปุ่มยางนวดเหงือกให้ปลายเฉียงไปทางด้านบดเคี้ยวเบนให้มาแนบด้านหนึ่งของซอกฟัน แล้วถูมาทางด้านบดเคี้ยว 3 ครั้ง จากนั้นเบนมาให้แนบชิดกับอีกข้างหนึ่งของซอกฟันเดียวกัน แล้วถูกมาทางด้านบดเคี้ยวอีก 3 ครั้ง ทำเช่นเดียวกันนี้ทุกซอกฟันทั้งด้านกระพุ้งแก้มและด้านลิ้น
  2. แปรงระหว่างซอกฟัน (Proxa Brush, Interdental Brush) สำหรับผู้ที่มีช่องระหว่างฟัน คือมีเหงือกสามเหลี่ยมระหว่างซอกฟันร่น หรือไม่มีฟันข้างเคี้ยว หรือด้านหลังของฟันซี่สุดท้าย สามารถใช้แปรงระหว่างซอกฟัน ซึ่งมี 2 แบบ คือ Proxa Brush ซึ่งมีด้ามและ Interdental Brush ไม่มีด้ามยาวจับมีลักษณะคล้ายแปรงล้างขวดขนาดเล็ก วิธีใช้ สอดแปรงเข้าไประหว่างช่องว่างระหว่างซี่ฟัน จากนั้นวางแปรงบนเหงือกให้แนบด้านหนึ่งของซอกฟัน แล้วถูเข้าถูออก ประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วเบนแปรงมาแนบอีกด้านหนึ่งถูเข้าถูออก 3-4 ครั้ง ทำเช่นนี้กับซอกฟันที่มีช่องว่างโดยเข้าจากด้านกระพุ้งแก้มและเข้าจากด้านลิ้นด้วย ถ้าใช้ Proxa Brush จะเข้าได้ทั้ง 2 ด้าน ส่วน Interdental Brush นั้น ใช้เข้าจากด้านกระพุ้งแก้มเท่านั้น
  3. ผ้าก๊อซ (Gauze Strip) ท่านสามารถใช้ผ้าGauze ตัดกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ทำความสะอาดซอกฟันที่ช่องว่างระหว่างฟัน หรือฟันที่ไม่มีฟันข้างเคียงได้ เช่นกัน โดยมีวิธีใช้เช่นเดียวกับเส้นใยขัดฟัน
  4. ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent) ไม่จิ้มฟันที่มีขายอยู่ในตลาดทั่วไปนั้น เป็นไม้จิ้มฟันที่ไม่ถูกลักษณะ ไม่ควรใช้เพราะไม่สามารถทำความสะอาดกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้และมักเป็นอันตรายต่อเหงือก เพราะแข็งเกินไปและมีลักษณะไม่ถูกต้อง ถ้าใช้นาน ๆ และแรง ๆ นอกจากจะทำอันตรายเหงือกแล้ว จะทำให้ฟันห่างได้ ท่านสามารถใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเศษอาหารออกเบา ๆ ได้ ไม่ควรใช้แรงแคะหรืองัดเพื่อกำจัดเศษอาหาร ถ้าเศษอาหารติดแน่นระหว่างซอกฟัน ต้องหาสาเหตุและรีบแก้ไข เช่น ฟันผุซอกฟัน ฟันที่อุดหรือครอบไว้ไม่ดี เป็นต้น

ไม้ที่ทันตแพทย์แนะนำเพื่อใช้กำจัดคราบจุลินทรีย์ระหว่างซอกฟันและนวดเหงือกนั้น ควรเป็นรูปสามเหลี่ยม (มองจากด้านตัด) เพื่อให้มีรูปร่างให้เข้าตามช่องว่างระหว่างฟันและเหงือกได้ และควรจะต้องเป็นไม้อ่อน โดยมากทำจากไม้สีดา เรียกไม้ชนิดนี้ว่า ไม้กระตุ้นเหงือก (Stim-U-Dent)

วิธีใช้สอดไม่นี้ระหว่างซอกฟันที่มีช่องว่างระหว่างกัน โดยให้ฐานของสามเหลี่ยมอยู่ที่เหงือกและด้านข้างแนบกับด้านหนึ่งของซอกฟันแล้วถูเข้าออก 4-5 ครั้ง ทำเช่นนี้ทุกช่องที่มีช่องว่างระหว่างฟัน

  1. เครื่องฉีดทำความสะอาดในปาก (Oral Irrigating Device) เป็นเครื่องมือที่ใช้แรงดันของน้ำฉีดเข้าทำความสะอาดซอกฟันกำจัดเศษอาหารซึ่งมักใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟันและใส่ฟันติดแน่น สิ่งสำคัญที่ควร

ทำความเข้าใจอย่างยิ่งคือ เครื่องมือนี้ ไม่สามารถใช้แทนการแปรงฟันหรือการใช้เส้นใยขัดฟัน เพราะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ นอกจากนี้ถ้าแรงดันน้ำสูงเกินไปอาจทำอันตรายต่อเหงือกได้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ ผู้ใช้จึงควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทของเครื่องมือทำความสะอาดซอกฟันที่เหมาะสมและอธิบายวิธีใช้ให้แก่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

แปรงกระจุกเดียว (Single Tufted Brush) เป็นแปรงที่ใช้ในผู้ที่มีฟันเก ฟันล้มเอียง ด้านในของฟันล่างและใช้ในผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน วิธีใช้กวาดขนแปรงไปตามคอฟัน โดยใช้หลังจากการแปรงฟันปกติที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อถึงซอกฟันจึงขยับขนแปรงอยู่กับที่ แล้วปัดไปดานบดเคี้ยว ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ที่ต้องการ

ในปัจจุบันมีการฝังรากเทียมกันอย่างแพร่หลาย การทำความสะอาดรอบรากเทียมสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ยกเว้นเครื่องมือมีคมหรือมีส่วนของโลหะที่อาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนขนผิววัสดุรากเทียมและกลายเป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่ายขึ้น

สีย้อมคราบจุลินทรีย์ (Disclosing Agent)

ในการกำจัดคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันนั้น ถ้าใช้สีย้อมคราบจุลินทรีย์จะทำให้สามารถทดสอบได้ว่าท่านแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกได้หรือไม่ ส่วนที่มักจะติดมากที่สุดคือบริเวณคอฟัน สีนี้จะมีส่วนผสมของสีที่ทำจากพืชและไม่จับตัวฟันที่สะอาด สีมีในรูปเม็ดและน้ำ ถ้าเป็นเม็ดให้เคี้ยวแล้วตวัดลิ้นไปตามตัวฟันให้ทั่ว แล้วบ้วนน้ำทิ้ง ถ้าเป็นน้ำใช้จุ่มสำลีทาบนตัวฟัน แล้วบ้วนน้ำทิ้ง จากนั้นใช้กระจกส่องในปากแล้วตรวจดูว่าสีติดบริเวณใดแล้วกำจัดสีที่ติดฟันออกให้หมด หรือจะใช้สีย้อมหลังจากการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันแล้วก็ได้ เพื่อดูว่าบริเวณใดบนตัวฟันที่ยังติดสีอยู่ ให้กำจัดคราบจุลินทรีย์ที่ติดสีบริเวณนั้น ไม่ต้องพยายามกำจัดสีที่ติดเหงือก เพราะจะทำให้เหงือกเป็นอันตรายได้ สีนี้จะจางไปในระยะเวลาสั้น

ยาอมบ้วนปาก

การโฆษณาถึงสรรพคุณของยาอมบ้วนปาก ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุว่าสามารถป้องกันกำจัดกลิ่นปากได้นั้น เป็นโฆษณาที่ไร้เหตุผล เพราะสาเหตุของกลิ่นปากนั้นมีหลายอย่าง นอกจากปัญหาทางร่างกาย (เช่น โรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ เป็นต้น) แล้วยังมีปัญหาที่สำคัญอื่น ๆ คือ ฟันผุ มีคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารหมักหมม การเป็นโรคปริทันต์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ฉะนั้นต้องหาสาเหตุให้พบเพราะปัญหาใดถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ยาอมบ้วนปากสามารถทำให้ปากหอมได้ในระยะเวลาสั้น และการใช้ยาบ้วนปากนาน ๆ จะทำให้เกิดฝ้าขาว ซึ่งอาจเป็นเชื้อราขึ้นในปากได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาบ้วนปากมีประสิทธิภาพในการทำลายจุลินทรีย์บางชนิด อาจทำให้เสียสมดุลของเชื้อโรคที่มีมากในช่องปาก เชื้อราจึงมีอำนาจมากขึ้นทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ ดังนั้นการใช้ยาอมบ้วนปากจึงควรใช้ เมื่อแพทย์หรือทันตแพทย์สั่งเท่านั้น เช่น มีอาการเจ็บคอ ปากเป็นแผล ภายหลังผ่าตัดเหงือก กรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่ฟันผุง่าย หรือหลังการฉายรังสีรักษามะเร็งในช่องปาก เป็นต้น ในปัจจุบันมียาบ้วนปากที่ผสมสารเคมีหรือสมุนไพรเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูน หรืออาการเหงือกอักเสบ แต่ยังต้องการการวิจัยยืนยันต่อไปโดยเฉพาะผลในระยะยาว การป้องกันหรือกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดคือ การแปรงฟัน และการทำความสะอาดซอกฟันที่ถูกต้องและเหมาะสม

ความรู้อื่นๆเกี่ยวกับช่องปากและฟัน

เบาหวานกับโรคเหงือกอักเสบ

เราพบว่าโรคเบาหวานไม่ได้เป็นโรคเดี่ยวๆมันสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและมีความซับซ้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกาย เบาหวานสามารถทำให้คุณเสี่ยงต่อการมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ รวมถึงโรคปริทันต์ด้วย โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจุลินทรีย์อย่างเรื้อรัง และส่งผลให้มีการอักเสบของเหงือกและการทำลายของกระดูกที่รองรับฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาฟันก็จะโยกและหลุดออกไป การศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ถึง 4.2 เท่า เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆอยู่แล้ว การศึกษาวิจัยยังพบอีกด้วยว่าโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ต่อโรคปริทันต์ โรคปริทันต์ยังช่วยเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือด เป็นผลให้การควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานยากยิ่งขึ้น เฉพาะการรักษาควรทำควบคู่กันไปทั้งสองโรค จากการทดลองพบว่าการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรค ปริทันต์ด้วยยาปฏิชีวนะจะทำให้การใช้ อินซูลินลดลง เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ในปริมาณที่ดี ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ของผู้ป่วยเบาหวานก็จะไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน จากการศึกษาที่ได้ลงตีพิมพ์ใน วารสารทางทันตแพทย์ พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะส่งผลให้การตอบสนองของเชื้อจุลินทรีย์ ต่อเหงือกต่างจากผู้ป่วยที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลนอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะมีการสะสมของ โปรตีนที่เป็นอันตรายต่อเหงือก, เเละกระดูกรองรับฟันที่บริเวณเหงือกซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม

อย่างไรก็ตามท่านสามารถให้ทันตแพทย์เฉพาะทางที่รักษาโรคเหงือกตรวจสภาพในช่องปาก หรือให้คำแนะนำต่อท่านได

สัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพในช่องปากที่คุณควรรู้

แพทย์ส่วนมากมีความเชื่อว่าอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะป้องกันได้ถ้ามีการควบคุมโรคเบาหวานที่ดีและนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าสุขภาพในช่องปากบอกอะไรคุณได้บ้าง สัญญาณและอาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับสุขภาพในภาพช่องปากเพราะมันแสดงถึงอาการของโรคเบาหวานที่จะปรากฏออกมาหรือในกรณีที่คุณไม่มีการควบคุมโรคเบาหวานที่ดีพอ

สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการผิดปกติในช่องปากก็คือ

  1. มีเลือดออกเมื่อแปรงฟันหรือเมื่อใช้ไหมขัดฟัน
  2. เหงือกบวมแดง
  3. เหงือกร่น
  4. ปากแห้ง

ถ้าคุณอยากพบอาการเหล่านี้คุณควรไปพบทันตแพทย์แต่ในบางครั้งโรคเหงือกอักเสบจะไม่มีอาการที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัดดังนั้นการได้รับการตรวจสภาพเหงือกโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่รักษาโรคเหงือกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

อนามัยในช่องปากที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคเหงือกอักเสบ การป้องกันนี้รวมถึงการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันที่ถูกต้องทุกวัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ระหว่างซอกฟัน รวมถึงการพบทันตแพทย์เพื่อรับการขูดหินปูน ปีละ 2 ครั้งก็จะช่วยให้หินปูนถูกกำจัดออกจากบริเวณที่แปรงหรือไหมขัดฟันไม่สามารถเข้าถึง

มะเร็งในช่องปาก

มะเร็งที่ปากสามารถส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ภายในช่องปาก รวมถึง ริมฝีปาก, เนื้อเยื่อเหงือก, ลิ้น, แก้ม, ลำคอ และที่เพดานแข็งเพดานอ่อนเราสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างไรจากการเป็นมะเร็งในช่องปาก

เท่าที่พบมะเร็งนั้นมีได้หลายระยะและการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะเป็นผลดีต่อการรักษาโดยการสละเวลาสัก 2-3นาที ในการสังเกตความผิดปกติของ ริมฝีปาก, เหงือก, แก้ม, ลิ้น, ลำคอ และควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ทันทีที่พบอาการเหล่านี้ เช่น

  1. มีอาการเจ็บที่ริมฝีปากหรือในปากที่ไม่หายและมีเลือดออกง่าย หรือมีการหลั่งสารจากภายใน
  2. มีก้อนขึ้นที่ริมฝีปาก, ในปากหรือในลำคอ
  3. ปากและริมฝีปากไม่มีความรู้สึกและยากแก่การเคลื่อนไหว
  4. มีจุดสีขาว, แดงหรือดำเกิดขึ้นที่เหงือก, ลำคอ, ลิ้น
  5. มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นบ่อยๆหรือมีอาการระคายคอ
  6. มีอาการเจ็บเวลาเคี้ยวหรือกลืนอาหาร
  7. เสียงเปลี่ยนไป
  8. มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งฟันอาจอยู่ชิดกันหรืออยู่ห่างกันมากเกินไป
  9. มีเลือดออกที่ผิดปกติ, เจ็บหรือไม่มีความรู้สึกที่ปาก

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการลุกลามของมะเร็ง การสูบบุหรี่, การใช้ใบยาสูบ, ยานัดถุ์

มะเร็งและสุขภาพช่องปาก

การรักษามะเร็งสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพช่องปากได้ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้สารเคมีและรังสีบำบัดที่บริเวณศีรษะ, ลำคอ และการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก คือ เหงือกอักเสบ, แผลในช่องปาก, การติดเชื้อ, ฟันผุและปากแห้ง จึงควรไปพบทันตแพทย์หรือทันตแพทย์เฉพาะทางด้านรักษาโรคเหงือกก่อนที่จะทำการรักษามะเร็งดังนั้นภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจะสามารภกำจัดหรือป้องกันได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำการมีอนามัยช่องปากและฟันที่ดีก่อนหรือหลังการรักษาโรคมะเร็งจะเป็นการลดการติดเชื้อได้

หลักการง่ายๆ ที่จะช่วยให้มีอนามัยช่องปากและฟันที่ดี

  1. ควรสังเกตบริเวณในปากทุกวันถึงอาการเจ็บปวดหรือมีสิ่งผิดปรกติ ควรปรึกษา ทันตแพทย์ทันทีเมื่อพบอาการดังกล่าว
  2. แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็น ส่วนประกอบ แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง หรือทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ถ้าแปรงฟันและรู้สึกเจ็บให้แช่แปรงสีฟันในน้ำอุ่น
  3. ควรทำให้ปากชุ่มชื้นอยู่เสมอโดยการจิบน้ำบ่อยๆ และใช้หมากฝรั่งหรือลูกกวาดที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำลายดีขึ้น หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เพราะ จะทำให้ปากแห้งยิ่งขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทันตแพทย์จะได้ทำการจ่ายยาสำหรับกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลาย
  4. ขัดฟันด้วยไหมขัดฟันเบาๆและหลีกเลี่ยงบริเวณที่เจ็บหรือมีเลือดไหลชั่วคราว
  5. ถ้ามีอาการเจ็บหรือแสบในปาก ควรใช้น้ำอุ่น 1 ถ้วยผสมกับ เบกกิ่งโซดา 1/4 ช้อนชาและ เกลือ 1/8 ช้อนชา บ้วนปากทุกๆวันๆละ2-3 ครั้งและล้างปากตามด้วยน้ำทุกครั้ง
  6. หลีกเลี่ยงการการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา