Home/ภาควิชา/ภาควิชากายวิภาคศาสตร์

เกี่ยวกับภาควิชากายวิภาคศาสตร์

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

shutterstock 395066512 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำเนิดเป็นเพียงแขนงวิชาหนึ่งของแผนกทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นแผนกอิสระแผนกหนึ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นหัวหน้าแผนก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 เนื่องจากเป็นแผนกอิสระใหม่ จึงไม่มีสถานที่ทำการสอนวิชาต่าง ๆ ที่แน่นอนเหมือนของแผนกหรือคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย แขนงวิชาต่าง ๆ ของแผนกทันตแพทยศาสตร์ในขณะนั้นจึงต้องอาศัยเรียนอยู่กับคณะต่างๆสำหรับการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ได้อาศัยเรียนอยู่ กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียรเป็นผู้บรรยายและควบคุมการสอน และมีอาจารย์ลิ้ม จุลละพันธ์ เป็นอาจารย์ผู้ช่วยควบคุมภาคปฏิบัติการ และเนื่องจากแผนกทันตแพทยศาสตร์เป็นแผนกที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นหลักสูตรการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ จึงยังไม่ได้มีการกำหนดลงไปแน่นอนว่าควรจะสอนวิชากายวิภาคศาสตร์สาขาต่าง ๆ มากน้อยเท่าใดจึงจะเหมาะสม การสอนวิชานี้ จึงดำเนินไปคล้ายคลึงกับการสอนนักศึกษาแพทย์ในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชกรรมศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารวมกันตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแพทย-ศาสตร์ (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) แผนกทันตแพทยศาสตร์จึงมีฐานะเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2486 และมี พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นคณบดีขณะนั้นประเทศไทยเราอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ตึกทันตแพทยศาสตร์ (ตึกวาจวิทยาวัฑฒน์) จุฬาลงกรณ์ซอย 11 (จุฬาลงกรณ์ ซอย 64) ดังนั้นคณะทันตแพทยศาสตร์จึงจำเป็นต้องย้ายไปอาศัยอยู่บนตึกรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรีสำหรับการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ก็ยังคงอาศัยแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และ ศิริราชพยาบาล เป็นที่เรียนอยู่ตามเดิม

ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2488 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้ย้ายจากตึกรังสีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช มาอยู่ที่ชั้น 3 อาคาร 5 ถนนราชดำเนิน แต่การสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ขณะนั้นก็ยังคงอาศัยแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเป็นผู้สอนให้อย่างเดิม

ต่อมานโยบายและโครงการศึกษาของคณะทันตแพทยศาสตร์ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปโดย พ.อ. หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ต้องการจัดให้มีแผนกกายวิภาคศาสตร์ขึ้นเองภายในคณะทันตแพทยศาสตร์ ดังนั้นในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 คณะทันตแพทยศาสตร์ได้แยกการสอนวิชาต่าง ๆ ทุกสาขาวิชาออกมาทำการสอนเองและในปีนี้เองจึงนับได้ว่าเป็นปีแรกที่คณะทันตแพทยศาสตร์ได้เริ่มทำการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์อย่างจริงจังด้วยตนเองขึ้นภายในคณะฯ การสอนวิชานี้อยู่ในความควบคุมของทันตแพทย์ ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร (ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร) ซึ่งเป็นทั้งผู้บรรยายและผู้ควบคุมการปฏิบัติการภายในห้องปฏิบัติการด้วย แต่หลักสูตรก็ยังคงคล้ายกับเมื่อครั้งอาศัยเรียนอยู่กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และในปีนี้เองสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งคืนตึกทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซอย 11 ให้แก่คณะฯ ทางคณะฯ จึงได้พิจารณาที่จะย้ายบรรดาแผนกการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นมูลฐาน (Basic Sciences) ทั้งหมดมาทำการสอนที่ตึกทันตแพทยศาสตร์ คงไว้แต่วิชาทางด้านคลินิกเท่านั้นที่ยังคงดำเนินการสอนอยู่ ณ ชั้น 3 อาคาร 5 ถนนราชดำเนินต่อไป

อีกหนึ่งปีต่อมา คือปี พ.ศ. 2490 อาศัยพระราชกฤษฎีกาการจัดระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแบ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ออกเป็น 12 แผนก และในจำนวนนี้มีแผนกกายวิภาคศาสตร์อยู่ด้วย อีกทั้งในปีนี้เองทันตแพทย์ ม.ร.ว. อ๊อด กฤดากร ได้ย้ายไปทำการสอนวิชาสรีรวิทยาและชีวเคมี ส่วนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์อยู่ในความควบคุมของรักษาการหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ นายแพทย์เล็ก ณ นคร โดยมีทันตแพทย์เสงี่ยม ลิมพะสุต (ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์เสงี่ยม ลิมพะสุต) เป็นอาจารย์ผู้ช่วย การสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ขณะนั้นก็ยังคงเหมือนเดิม คือตามแนวเดิมที่อาศัยการสอนจากแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และ ศิริราชพยาบาล แต่มาทำการสอนอยู่ ณ ตึกทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซอย 11 เท่านั้น ส่วนบรรดาอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนวิชานี้นับว่าเลวลงกว่าเมื่อครั้งอยู่กับแผนกกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เพราะเนื่องจากการแยกออกมาทำการสอนเองอย่างกระทันหัน ประการหนึ่ง และงบประมาณของคณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับน้อยมากอีกประการหนึ่ง จึงไม่สามารถที่จะจัดหาบรรดาอุปกรณ์ในการสอนให้ได้ครบถ้วน ต้องอาศัยหยิบยืมจากสถาบันอื่น ๆ อาทิเช่น โต๊ะชำแหละศพมีเพียง 4 โต๊ะ และเครื่องมือชำแหละศพมีเพียง 6 ชุด ซึ่งยืมจากโรงเรียนแพทย์เสนารักษ์ จังหวัดลพบุรี กล้องจุลทรรศน์มีจำนวน 5 กล้องซึ่งเป็นสมบัติเดิมของคณะทันตแพทยศาสตร์