งานวิจัยภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก

โครงการวิจัย

การพัฒนาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์เพื่อใช้ในงานทันตกรรม

ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ (Silver diamine fluoride; SDF) เป็นสารที่ช่วยหยุดยั้งรอยโรคฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีขั้นตอนในการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ถูกนำมาใช้ในการรักษารอยโรคฟันผุทดแทนการบูรณะฟันในกรณีเฉพาะต่างๆ เช่น ในผู้ป่วยเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างเต็มที่ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้ เป็นต้น

ปัจจุบัน ยังไม่มีซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ซึ่งเป็นสูตรที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นในประเทศไทย ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมจากต่างประเทศ ในบางครั้งจึงเกิดปัญหาในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งาน ทำให้ลดโอกาสที่ทันตแพทย์จะเลือกใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ คณะผู้วิจัยจึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ขึ้นเพื่อผลิตและใช้งานภายในประเทศ

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาสูตรและเทคนิคการผสมจนได้ ต้นแบบผลิตภัณฑ์สารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ ความเข้มข้นร้อยละ 38 ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีพื้นฐานใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายในตลาดโลก รวมถึงมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลชีพทั้งต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์คู่เทียบ จากนั้น คณะผู้วิจัยได้นำสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์มาทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งรอยผุในชั้นเนื้อฟันในห้องปฏิบัติการภายใต้การจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาวะในช่องปาก พบว่า มีผลช่วยยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุออกจากโครงสร้างฟันได้ไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยรอยผุในชั้นเนื้อฟันที่ได้รับการทาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์มีความลึกของรอยผุลดลง และมีความหนาแน่นของแร่ธาตุเพิ่มขึ้น เมื่อวิเคราะห์พื้นผิวของเนื้อฟันที่ได้รับการทาด้วยสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ที่ผลิตขึ้น พบว่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในแผ่นคราบจุลินทรีย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงพบการตกตะกอนของแร่ธาตุภายในท่อเนื้อฟันด้วย

นอกจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการแล้ว คณะผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ในสัตว์ทดลอง โดยศึกษาในฟันกรามของหนูสายพันธุ์ wistar ที่ถูกกรอให้ถึงชั้นเนื้อฟันและได้รับการทาสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ที่ผลิตขึ้น เปรียบเทียบผลการตอบสนองของเนื้อเยื่อในฟันที่ระยะเวลา 7 และ 28 วัน เทียบกับผลิตภัณฑ์คู่เทียบ จากผลการศึกษา ไม่พบการอักเสบหรือพบการอักเสบเพียงเล็กน้อยของเนื้อเยื่อในของฟันกรามของหนูทดลอง การจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่ออ่อนภายในโพรงเนื้อเยื่อในเป็นปกติ รวมถึงพบการสร้างเนื้อฟันตติยภูมิในฟันกรามบางซี่ด้วย

สรุปได้ว่า ต้นแบบผลิตภัณฑ์สารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ ความเข้มข้นร้อยละ 38 ที่ผลิตขึ้นมีประสิทธิภาพในการต้านการเจริญของเชื้อ ช่วยยับยั้งการลุกลามของรอยโรคฟันผุในระดับห้องปฏิบัติการ รวมถึงมีความเข้ากันได้ทางชีวภาพในสัตว์ทดลอง ไม่แตกต่างจากสารซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ที่ผลิตจากต่างประเทศ


ผลงานวิจัย

pediatric-dentistry-research

ภาพประกอบงานวิจัย

pediatric-dentistry-images

นักวิจัย

รศ.ทพญ.ดร.บุษยรัตน์ สันติวงศ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ทพญ.ดร.บุษยรัตน์ สันติวงศ์

Profile

รศ.ทพญ.ดร.ทิพวรรณ ธราภิวัฒนานนท์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ทพญ.ดร.ทิพวรรณ ธราภิวัฒนานนท์

Profile

รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ

Profile

ผศ.ทพญ.ดร.วรรณกร ศรีอาจ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ทพญ.ดร.วรรณกร ศรีอาจ

Profile

ผศ.ทพญ.ดร.ณัฐนันท์ โกวิทวัฒนา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ทพญ.ดร.ณัฐนันท์ โกวิทวัฒนา

Profile

อ.ทพญ.ดร.ศิริพร ส่งศิริประดับบุญ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ทพญ.ดร.ศิริพร ส่งศิริประดับบุญ

Profile

อ.ทพ.สมกมล วนิชวัฒนะ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ทพ.สมกมล วนิชวัฒนะ

Profile

อ.ทพญ.อรนุช เตชาธาราทิพย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ทพญ.ดร.อรนุช เตชาธาราทิพย์

Profile

รติชนก นันทนีย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.ทพญ.ดร.รติชนก นันทนีย์

Profile