Home/ภาควิชา/ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์

เกี่ยวกับภาควิชา
ทันตกรรมประดิษฐ์

shutterstock 247106044 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา

ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ เมื่อ ปี 2486 ซึ่งสังกัด มหาวิทยาแพทยศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ พ.อ.หลวง วาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็น คณบดี โดยมีสถานที่ทำงานของภาควิชาฯ อยู่ที่ชั้น 1 ของตึก 1 (ในปัจจุบัน) ทำหน้าที่หลักในการสอนนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต ในสาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หน่วยวิชาคือ วิชาฟันปลอมบางส่วนติดแน่น ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้ ฟันปลอมทั้งปาก และทันตวัสดุศาสตร์ โดยมีการการสอนทั้งภาคบรรยาย ภาคปฏิบัติการ และภาคปฏิบัติการทางคลินิก ปี พ.ศ. 2522 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ได้ก่อสร้างตึก 5 ชั้น ขึ้นใหม่คือ ตึก 5 เพื่อเป็นที่ตั้งของคลินิกรวม อันประกอบด้วยภาควิชาทางคลินิก 4 ภาควิชา ได้แก่ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ภาควิชาทันตกรรมหัตถการ ภาควิชาทันตกรรมบดเคี้ยว และภาควิชาปริทันตวิทยา โดยภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ มีสถานที่ทำงานของภาควิชาฯ อยู่ที่ชั้น 3 ตึกเดียวกันจนถึงปี พ.ศ. 2528 ได้ย้ายที่ทำงานของภาควิชาฯ ขึ้นมาอยู่ที่ ชั้น 4 ตึก 5 ในส่วนของอาคารด้านทิศเหนือ ซึ่งเคยเป็นห้องสมุดเก่าเป็นการชั่วคราว และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ภาควิชาฯ ได้ย้ายที่ทำงานมาอยู่ในส่วนของอาคารด้านทิศใต้ของชั้นเดียวกัน ภาควิชาฯ ได้มีการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา คือ ประกาศนียบัตรบัณฑิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบัน และเริ่มมีการสอนระดับมหาบัณฑิต ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 โดยนิสิตส่วนมากที่จบการศึกษา เป็นอาจารย์สาขานี้ทั่วประเทศ เป็นทันตแพทย์ที่มีชื่อเสียง ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2545 ภาควิชาฯ ได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ เพื่อการสอบวุฒิบัตรของทันตแพทยสภาแห่งประเทศไทย สำหรับการบริหารวิชาการ อาจารย์ของภาควิชาฯ ได้เป็นผู้บรรยายระดับนานาชาติ และช่วยสอนให้แก่คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ทางภาควิชาฯ ยังได้มีการจัดอบรมวิชาการ และร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในวงการทันตแพทย์ ในการให้บริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนทั่วไปร่วมกับองค์กรต่างๆ อันได้แก่ ทันตกรรมพระราชทาน, โครงการบ้านปากเกร็ด, โครงการทันตกรรมดอยตุง, เป็นต้น ภาควิชาฯ สนับสนุนให้อาจารย์และนิสิตเพิ่มพูนความรู้ และโดยการเข้ารับการอบรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติอยู่อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบัน ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ได้แบ่งเป็น 4 สาขาวิชาดังนี้ หน่วยวิชาทันตวัสดุศาสตร์ หน่วยวิชาฟันปลอมบางส่วนติดแน่น หน่วยวิชาฟันปลอมบางส่วนถอดได้ หน่วยวิชาฟันปลอมทั้งปาก

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ได้มุ่งมั่นในการผลิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถในทางทันตกรรมประดิษฐ์ให้สมกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ โดยการบริหารงานของหัวหน้าภาควิชาฯ นับตั้งแต่ก่อตั้ง ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ ได้มีหัวหน้าภาควิชาฯ ดังนี้

  • ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ พันเอก สี สิริสิงห์
  • ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ เติบ จารุดิลก
  • ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ เจน รัตนไพศาล
  • ศาสตราจารย์ พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ โกเมศ สัมฤทธิเวช
  • ศาสตราจารย์ กิตติคุณทันตแพทย์หญิง โสภี ชาติสุทธิพันธุ์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ศุภบูรณ์ บุรณเวช
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง รำไพ โรจนกิจ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ศุภบูรณ์ บุรณเวช
  • รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ภาณุพงศ์ วงศ์ไทย
  • รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.แมนสรวง อักษรนุกิจ
  • ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.มรกต เปี่ยมใจ