เกี่ยวกับภาควิชา
ประวัติความเป็นมา
ภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสำนักงานภาควิชารังสีวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 10 อาคารสมเด็จย่า 93 และคลินิกรังสีวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 อาคารเดียวกัน
ปัจจุบันมีอัตรากำลังประเภทอาจารย์ประจำ 7 ท่าน และเจ้าหน้าที่ 9 ท่าน มีพันธกิจทั้งในด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการและการวิจัยทางรังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กล่าวคือเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางรังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลแก่ทันตแพทย์ไทยผ่านกระบวนการเรียนการสอนทั้งในและนอกหลักสูตร รวมถึงการค้นคว้าวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ และการบริการวิชาการ อีกทั้งเปิดให้บริการถ่ายภาพรังสีแก่ทันตแพทย์และประชาชนทั่วไปในช่วงเวลา 8.30-19.45 น. (วันจันทร์-วันศุกร์) และ 9.00-16.00 น. (วันเสาร์-วันอาทิตย์) ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ทางรังสีวิทยาและแม็กซิลโลเฟเชียลสู่สังคมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสู่บัณฑิตทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านกระบวนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ภายในคณะฯ และสู่ทันตแพทย์ทั่วไปผ่านกระบวนการอบรมวิชาการต่าง ๆ ให้มีศักยภาพสูงตามมาตรฐานสากล
ในการจัดการเรียนการสอนของภาควิชา ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษามุ่งเน้นให้ได้บัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้วยกลยุทธ์การสอนแบบบรรยาย สัมมนา ปฏิบัติการ ศึกษาด้วยตนเอง กรณีศึกษา และกลยุทธ์การประเมินผลการเรียนรู้แบบการสอบข้อเขียน การสอบปากเปล่า การประเมินการปฏิบัติงานในคลินิก
ภาควิชารังสีวิทยากำเนิดพร้อมกับแผนกทันตแพทย์ ซึ่งแยกออกมาเป็นแผนกอิสระ ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 โดยมีพิธีเปิดสถานที่ที่ทำการ 2 ชั้น (อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ในปัจจุบัน) ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 11 ถนนพญาไท ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากสงครามมหาเอเชียบูรพา คลินิกรังสีวิทยาจึงได้เปิดตัวครั้งแรกในบริเวณชั้นบนของตึกรัศมีวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2485 โดยมีหัวหน้าแผนกคนแรกคือ ศาสตราจารย์ ร้อยเอก นายแพทย์ หิรัญ สาหร่ายทอง ซึ่งตอนนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคฟันด้วย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ได้รับตึกที่ทำการเดิมคืน ในระยะแรกคณะฯ ยังไม่ได้มีการแยกแผนกต่าง ๆ ออกมาชัดเจน จนกระทั่ง เมื่อ พ.ศ. 2490 มีการแยกแผนกออกมา เป็น 12 แผนก โดยแผนกรังสีวิทยาเป็น 1 ใน 12 แผนกนั้น
ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ได้มีพิธีเปิดตึกทันตกรรมและหอพักนักศึกษาชายหญิง ตึกทันตกรรมที่เปิดใหม่นี้ ได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติงานทางคลินิกของแผนกต่าง ๆ คือ แผนกทันตกรรมประดิษฐ์ แผนกทันตกรรมหัตถการ แผนกรังสีวิทยา แผนกศัลยศาสตร์ และแผนกจัดฟัน โดยแผนกรังสีวิทยาจะอยู่ทางด้านขวาของตึก ในระยะแรกจะมีเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้อยู่เพียง 3 เครื่อง โดยเป็นเครื่องที่ใช้ถ่ายในช่องปาก 2 เครื่อง และถ่ายนอกปาก 1 เครื่อง และมีคณาจารย์ในแผนก 4 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ร้อยเอก นายแพทย์หิรัญ สาหร่ายทอง, รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง บุปผา วิเศษ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ประวิตร บูรณศิริ และ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ทันตแพทย์ ไพรัช ธีรวรางกูร
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2507 แผนกรังสีวิทยาได้ย้ายจากตึกทันตกรรมมาอยู่ที่ตึกรังสีวิทยา ซึ่งภายหลัง ในปี พ.ศ. 2536 ตึกรังสีวิทยาได้ถูกรื้อ เพื่อที่จะทำการก่อสร้าง อาคารสมเด็จย่า 93 ในเวลานั้นภาควิชารังสีวิทยาได้ย้ายไปอยู่ที่ชั้นล่างของตึกหอหญิง และเมื่ออาคารสมเด็จย่า 93 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2539 ภาควิชารังสีวิทยา ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารสมเด็จย่า 93 ในปี พ.ศ. 2540 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยคลินิกรังสีวิทยาตั้งอยู่ที่ชั้น 1 และสำนักงานภาควิชารังสีวิทยาตั้งอยู่ที่ชั้น 10
หัวหน้าภาควิชาฯ ในอดีต-ปัจจุบัน
สำหรับภาควิชารังสีวิทยา มีลำดับหัวหน้าภาควิชาฯ ดังต่อไปนี้
1. ศาสตราจารย์ ร้อยเอก นายแพทย์ หิรัญ สาหร่ายทอง |
พ.ศ. 2485-2515 |
2. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง บุปผา วิเศษ |
พ.ศ. 2515-2527 |
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ประวิตร บูรณศิริ |
พ.ศ. 2527-2531 |
4. ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ทันตแพทย์ ไพรัช ธีรวรางกูร |
พ.ศ. 2531-2538 |
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง อนงค์นาฏ ภักดีณรงค์ |
พ.ศ. 2538-2542 |
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ชีระ ไพบูลย์ |
พ.ศ. 2542-2544 |
7. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. สุนทรา พันธ์มีเกียรติ |
พ.ศ. 2544-2552 |
8. อาจารย์ ทันตแพทย์หญิง อรอนงค์ ศิลโกเศศศักดิ์ |
พ.ศ. 2552-2554 |
9. รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. สุนทรา พันธ์มีเกียรติ |
พ.ศ. 2554 – 2563 |
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ พลกฤษณ์ ศิลป์พิทักษ์กุล |
พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน |
วิสัยทัศน์ / พันธกิจ / กลยุทธ์
วิสัยทัศน์
พันธกิจ
- ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก และแม็กซิโลเฟเชียล ที่มีจิตสาธารณะ มีคุณธรรม และมีความเป็นผู้น เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทันตสุขภาพ
- มุ่งมั่นเป็นผู้นำในการเรียนการสอน การวิจัย และให้บริการวิชาการด้านภาพถ่ายทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยรอยโรคช่องปาก และแม็กซิโลเฟเชียล
- บริหารจัดการองค์กรภายใต้หลักธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม
กลยุทธ์
S1
มีอาจารย์ทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และวางแผนการรักษารอยโรคในช่องปาก ใบหน้า และกระดูกขากรรไกร รวมทั้งมีบุคลากรที่มีความชำนาญในการให้บริการในการถ่ายภาพทางการแพทย์บริเวณช่องปาก ใบหน้า และกระดูกขากรรไกร
S2
มีสถานที่ เครื่องมือทางด้านการถ่ายภาพทางการแพทย์ที่ค่อนข้างครบ และทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย
S3
ภาควิชารังสีวิทยา เป็นภาควิชาที่ก่อตั้งมาพร้อมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงเป็นภาควิชารังสีวิทยาทางทันตกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ทำให้เกิดความเชื่อถือ และเชื่อมั่นในชื่อเสียง
S4
เป็นหน่วยงานที่ร่วมในขบวนการรับรองคุณภาพทั้งการเรียนการสอน(AUN-QA) การบริการวิชาการ(HA) และ การบริหารจัดการ(EdPex) ทำให้มีมาตรฐานในระดับชาติ และนานาชาติ
S5
มีหลักสูตรหลังปริญญาที่หลากหลายทั้ง Thesis และ Training
S6
มีผลงานวิจัยค่อนข้างต่อเนื่อง และสามารถให้ความร่วมมือในการวิจัยร่วมเป็นสหสาขา
S7
เป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคณะฯ เป็นลำดับต้นๆ
S8
เป็นแหล่งอ้างอิง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย เครื่องมือทางภาพถ่ายทางการแพทย์บริเวณช่องปากใบหน้า และกระดูกขากรรไกร ให้กับหน่วยงานต่างๆ นำไปเพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติ หรือออกกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ภาควิชารังสีวิทยา