คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจัดฟัน
วัตถุประสงค์ของการจัดฟันในคนไข้แต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป โดยมากเป้าหมายของการจัดฟันมีดังนี้
- เพื่อให้ฟันเรียงตัวเป็นระเบียบสวยงามและคงสภาพ
- เพื่อให้สามารถบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อให้ฟัน,เหงือก และอวัยวะที่เกี่ยวข้องมีสุขภาพที่แข็งแรง
- เพื่อให้ใบหน้าได้รูปและสัดส่วนที่สวยงาม
ดังนั้นคนไข้ที่จะรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน “จำเป็นต้องระบุปัญหาที่ตัวเองมีและสิ่งที่ต้องการจะแก้ไขให้ครบถ้วน” เพราะรูปแบบการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนไข้ต้องการจะแก้ไขด้วย เช่น
- คนไข้ที่มีการเรียงตัวของฟันดีแล้วและไม่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหารแต่รู้สึกว่าฟันตัวเองยื่น ถ้าพิจารณาในแง่ของการสบฟันและการเรียงตัวของฟันก็จะไม่พบข้อบ่งชี้ในการจัดฟัน แต่เมื่อพิจารณาถึงปัญหาเรื่องฟันยื่น คนไข้รายนี้สามารถเข้ารับการจัดฟันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องฟันยื่นได้
- คนไข้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมด้วย เช่นมีการสบฟันที่ผิดปกติร่วมกับมีคางเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่ง ในกรณีที่คนไข้ต้องการแก้ไขเรื่องคางเบี้ยวด้วย การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขคางที่เบี้ยวไป และจำเป็นที่จะต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร ในทางกลับกันถ้าคนไข้รายนั้นคิดว่าคางเบี้ยวไม่ใช่ปัญหาและต้องการแก้ไขเฉพาะการสบฟันที่ผิดปกติเพียงอย่างเดียว ในกรณีนี้อาจจะสามารถรักษาด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียวได้อย่างไรก็ตามแผนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาที่คนไข้ต้องการแก้ไขเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่างเช่น
- สุขภาพช่องปาก เช่น สุขภาพของเหงือกและฟัน หรือการสูญเสียฟันไป ตัวอย่างเช่น คนไข้มีฟันซ้อนเกมากแต่มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง ในกรณีนี้เราจะเริ่มจัดฟันได้ก็ต่อเมื่อโรคเหงือกถูกรักษาให้หายแล้ว และคนไข้สามารถดูแลสุขภาพเหงือกของตัวเองได้ดี แผนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันสำหรับคนไข้รายนี้ก็จะต้องพิจารณาถือสภาพกระดูกเบ้าฟันและจะเป้นข้อจำกัดในการรักษาต่อไป
- ข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ปริมาณกระดูกเบ้าฟัน หรือปริมาณความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ตัวอย่างเช่น คนไข้มาด้วยปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนซึ่งมีสาเหตุมาจากกระดูกขากรรไกรล่างที่ยื่นมาก ในกรณีนี้การจัดฟันเพียงอย่างเดียวก็จะไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนในคนไข้รายนี้ได้และคนไข้จำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
- ข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันส่วนมากจะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ต่างๆได้ ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายจะตกเป็นของคนไข้หรือผู้ปกครองเอง ค่าใช้จ่ายในการจัดฟันนั้นแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับรูปแบบการรักษา, ชนิดของเครื่องมือ หรือความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ ตัวอย่างเช่น คนไข้มาด้วยปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนและคางยื่น ซึ่งจำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร แต่คนไข้รายนี้มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ดังนั้นรูปแบบการรักษาก็จะเหลือเพียงการจัดฟันอย่างเดียว ซึ่งทันตแพทย์จัดฟันก็จะประเมินอีกครั้งว่าสามารถแก้ไขฟันล่างคร่อมฟันบนด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ ถ้ามีความเป็นไปได้คนไข้รายนี้ก็สามารถเข้ารับการจัดฟันได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟันล่างคร่อมฟันบนเพียงอย่างเดียว แต่จะมีคางที่ยื่นเหมือนเดิมเมื่อรักษาเสร็จ
- ข้อจำกัดด้านเวลา โดยมากแล้วการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันจะใช้เวลาในการรักษายาวนาน(อาจยาวถึงหลายปี)
ดังนั้นคนไข้จะต้องมั่นใจว่าสามารถมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาตามที่ทันตแพทย์จัดฟันกำหนดได้ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน คนไข้ทุกคนจะต้องมีความเข้าใจแผนการรักษา, วิธีการรักษา และเป้าหมายในการรักษาให้ถูกต้องและครบถ้วน ในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือมีความไม่แน่ใจอย่างพึ่งเริ่มขั้นตอนการรักษา โดยเฉพาะการจัดฟันร่วมกับการถอนฟัน หรือการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด
ประเด็นสุดท้ายและเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ คือ “ความร่วมมือ” ของคนไข้ตลอดการรักษา “ผลลัพธ์ที่ได้จากการรักษานั้นขึ้นกับความร่วมมือของคนไข้เป็นอย่างมาก” ดังนั้นตลอดระยะเวลาในการรักษา คนไข้จะต้องมารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ, ดูแลเครื่องมือจัดฟันไม่ให้เสียหายและดูแลความสะอาดของฟันและเหงือกรวมถึงเครื่องมือจัดฟันอย่าดี, ในกรณีที่ต้องใส่เครื่องมือจัดฟันถอดได้ หรือเครื่องมืออื่นๆ เพิ่ม เช่นยางดึงฟัน หรือเครื่องมือดึงฟันภายนอกช่องปาก คนไข้จะต้องมีวินัยในการใส่เครื่องมือเหล่านั้นตามคำสั่งของทันตแพทย์จัดฟันอย่างเคร่งครัด
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันนั้นทำได้หลายหลายช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนโต ซึ่งอาจแบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้
1. การรักษาในเด็กชุดฟันผสม อายุประมาณ 8-12 ปี
การรักษาในช่วงนี้จะกระทำในกรณีที่คนไข้มีความผิดปกติเรื่องสัดส่วนของกระดูกขากรรไกรบนล่างที่ไม่เหมาะสม การสบฟันที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตที่ถูกต้องของขากรรไกรและการสบฟันเช่นการสบฟันลึก หรือการสบฟันที่กระแทกในบางบริเวณก่อนแล้วทำให้คนไข้ต้องเลื่อนขากรรไกรไปยังตำแหน่งที่ผิดปกติเพื่อสบฟัน แต่หากไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าวการรักษาอาจจะเริ่มในช่วงที่ฟันแท้ขึ้นครบแล้วก็ได้
การรักษาทำได้โดยการใส่เครื่องมือที่สามารถถอดได้, เครื่องมือดึงรั้งนอกปาก หรือในบางกรณีอาจจะใช้เครื่องมือติดแน่น ทั้งนี้เนื่องจากคนไข้ยังสามารถที่จะเจริญเติบโตได้มากในช่วงดังกล่าว การกระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญของขากรรไกรจะมีผลต่อความสำเร็จของการรักษา อาจจะต้องมีการรักษาต่อในระยะชุดฟันแท้ แต่จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น
2. การรักษาในชุดฟันแท้ อายุตั้งแต่ 12 ปีเป็นต้นไปหรือหลังจากที่ฟันแท้ขึ้นครบแล้ว
การรักษาโดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือติดแน่น Bracket ที่ผิวฟัน เพื่อจัดเรียงให้ฟันเรียงตัวสวยงามและบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจำเป็นต้องถอนฟันร่วมด้วยและต้องใช้เครื่องมืออื่นร่วมด้วยโดยหมอจะพิจารณาเป็นกรณีไป
3. การรักษาในวัยที่หมดการเจริญเติบโต 20 ปี ขึ้นไปเนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้มักมีความผิดปกติของขากรรไกรร่วมด้วย ซึ่งเราต้องรอจนหยุดการเจริญเติบโตจึงเริ่มให้การรักษาต่อไปได้
4. การรักษาในวัยผู้ใหญ่ร่วมกับการรักษาทันตกรรมอื่นๆ เช่นการเปิดช่องเพื่อใส่ฟันปลอม หรือแก้ฟันสบกระแทกในผุ้ป่วยที่มีโรคเหงือกร่วมด้วย
ระยะเวลารักษาจะแตกต่างกันตามแต่ปัญหาการสบฟัน โดยทั่วไปจะนัดคนไข้เป็นประจำทุก 1 เดือนเพื่อทำการปรับเครื่องมือ ในกรณีปกติจะประมาณ 1ปีครึ่ง- 2 ปี และกรณียากมากอาจจะใช้เวลา 3 – 4 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะคงสภาพ
หลังจากฟันเรียงตัวอย่างสวยงามและบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว หมอจะถอดเครื่องมือติดแน่นออก แล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องมือคงสภาพตำแหน่งฟันซึ่งมีอาจจะเป็นเครื่องมือติดแน่นหรือถอดได้แล้วแต่กรณีไป โดยระยะคงสภาพจะกินเวลาประมาณ 2 ปี กรณีเครื่องมือถอดได้นั้นในปีแรกคนไข้ควรจะใส่อยู่ตลอดเวลายกเว้นตอนทานอาหารและแปรงฟันและในปีที่สองจะใส่เฉพาะเวลากลางคืน หากไม่ใช้ให้ฟันจะมีแนวโน้มเคลื่อนตัวกลับเข้าสู่ในตำแหน่งเก่า การรักษาที่ผ่านมาด้วยความยากลำบาก, เจ็บปวดและเสียค่าใช้จ่ายมากมายจะสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย
อาการปวดตึงฟันเป็นอาการที่พบได้เสมอระหว่างจัดฟัน เมื่อฟันได้รับแรงจากอุปกรณ์จัดฟันจะเกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อระหว่างฟันกับกระดูกเบ้าฟันซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายและเป็นกลไกที่ทำให้ฟันเกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง การอักเสบนี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกปวดตึงฟัน
อาการปวดตึงฟันจะเริ่มขึ้นหลังจากปรับเครื่องมือจัดฟันไปแล้วหลายชั่วโมงและมีอาการต่อเนื่องอยู่ประมาณ 2-4 วัน หลังจากนั้นอาการปวดก็จะค่อยๆหายไปเอง ทั้งนี้ระดับความปวดตึงนั้นก็แตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคนแม้ว่าจะได้รับการรักษาในรูปแบบเดียวกันก็ตาม
ในกรณีที่มีอาการปวดตึงฟันมาก เราสามารถทานยาแก้ปวดได้ โดยยาแก้ปวดที่เหมาะสมสำหรับคนไข้จัดฟันคือ “ยาพาราเซตตามอล” เนื่องจาก ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆนั้นจะยั้บยั้งกระบวนการเคลื่อนที่ของฟันและทำให้การจัดฟันสำเร็จช้าลงนั่นเอง
ในกรณีที่อาการปวดรุนแรงมาก เช่นปวดราวขึ้นสมอง, ปวดจี๊ดฟันเมื่อทานของร้อนหรือเย็น หรือปวดฟันจนไม่สามารถโดนฟันได้ คนไข้ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์จัดฟันทราบทันที เพราะอาการปวดเหล่านี้อาจเกิดมาจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากแรงจากการจัดฟัน และจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อไป
- ฟันโยกระหว่างจัดฟัน
เมื่อฟันได้รับแรงจากเครื่องมือจัดฟัน จะส่งผลให้เส้นเอ็นที่ยึดฟันกับกระดูกและกระดูกที่อยู่รอบๆฟันเกิดการสลายตัวเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ให้ฟันเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปตามที่เราต้องการได้ การสลายตัวของกระดูกและเอ็นยึดฟันนั่นเองที่ทำให้เกิดภาวะฟันโยก “บางครั้งเราพบฟันโยกมากในคนไข้บางรายที่มีการนอนกัดฟัน, มีพฤติกรรมชอบบดเคี้ยวฟัน หรือในคนไข้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบมาก่อน อย่างไรก็ตามหลังจากที่เราหยุดให้แรงจัดฟันแล้ว กระดูกเบ้าฟันและเอ็นยึดฟันจะเกิดการซ่อมแซมตัวเองทำให้ภาวะฟันโยกหายไปได้เอง”เช่นเดียวกัน
- อาการปวดฟัน
อย่างที่อธิบายไปในหัวข้อ “จัดฟันเจ็บไหม” อาการปวดตึงฟันเป็นของที่เกิดคู่กับการจัดฟัน โดยหลังจากการปรับเครื่องมือจัดฟัน คนไข้จะมีอาการปวดตึงฟันอยู่ประมาณ 2-4 วันและอาการปวดตึงนั้นจะหายไปเอง อย่างไรก็ตามถ้าอาการปวดมีความรุนแรงมาก หรือมีอาการปวดค้างอยู่นานมากกว่าปกติ คนไข้จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ทันตแพทย์จัดฟันทราบทันที
- รากฟันละลาย
ภาวะการละลายของรากฟันประมาณ 1-2 มิลลิเมตรบริเวณปลายรากฟัน เป็นผลข้างเคียงที่เรามักพบเสมอๆภายหลังจากการจัดฟัน เพราะการละลายของรากฟันนี้เป็นผลพวงมาจากกระบวนการสร้างและสลายกระดูกรอบๆฟันและเอ็นเย็ดฟัน(ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ให้ฟันเปลี่ยนตำแหน่งได้) การละลายเพียงเล็กน้อยของรากฟันนั้นไม่ส่งผลต่อความแข็งแรงของฟันภายหลังจากการจัดฟัน
อย่างไรก็ตามเราพบการละลายของรากฟันมากกว่าปกติในคนไข้บางราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการละลายของรากฟันมีได้ตั้งแต่ ลักษณะของรากฟันที่แหลม หรือโค้งงอ, การรักษาที่ใช้เวลาในการรักษานาน หรือ ความผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
ปัจจัยอีกประการที่เรามักพบการละลายของรากฟันมากกว่าปกติคือ ฟันที่เคยได้รับการกระแทกมาก่อน ดังนั้น”คนไข้ที่เคยมีประวัติฟันได้รับการกระแทกมา เช่น ล้มแล้วฟันกระแทกพื้น หรือประสบอุบัติเหตุมา จำเป็นที่จะต้องแจ้งกับทันตแพทย์จัดฟันด้วย” โดยระหว่างจัดฟันคนไข้กลุ่มนี้จะถูกถ่ายภาพรังสีที่ฟันซี่ที่มีประวัติโดยกระแทก ทุก 3-6 เดือน เพื่อคอยติดตามดูว่าเกิดการละลายตัวของรากฟันที่มากกว่าปกติหรือไม่
- การละลายของกระดูกเบ้าฟัน
กระดูกเบ้าฟันเป็นกระดูกที่คอยล้อมรอบรากฟันเอาไว้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนในกรณีที่เราทำการเปลี่ยนตำแหน่งฟัน โดยปกติแล้วเราจะพบการละลายของกระดูกเบ้าฟันได้บ้างเล็กน้อยประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตรภายหลังจากการจัดฟัน
เช่นเดียวกับหลายๆหัวข้อที่ผ่านมา เราสามารถพบการละลายของกระดูกเบ้าฟันมากกว่าปกติได้ในคนไข้บางราย โดยมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับการละลายของกระดูกเบ้าฟัน เช่น ความแข็งแรงของเหงือก “เราพบว่า คนไข้ที่ไม่สามารถทำความสะอาดเหงือกและฟันได้อย่างดี และมีการอักเสบของเหงือกและอวัยวะปริทันต์อย่างมากจะมีโอกาสที่กระดูกเบ้าฟันจะละลายได้มากกว่าคนที่ทำความสะอาดช่องปากได้อย่างดีและไม่มีภาวะเหงือกอักเสบ”
นอกจากนี้ความหนาของกระดูกเบ้าฟันและปริมาณการเคลื่อนที่ของฟันก็มีผลต่อการละลายของกระดูกเบ้าฟันได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นทันตแพทย์จัดฟันจะใช้ปริมาณกระดูกเบ้าฟันที่มีของคนไข้(ดูได้จากภาพถ่ายรังสี) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้กำหนดแผนการรักษาด้วย เพราะถ้าฟันเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งเกินกว่าที่กระดูกเบ้าฟันจะปรับตัวได้ก็จะเกิดการละลายของกระดูกเบ้าฟันได้อย่างมากเช่นเดียวกัน
นอกจาก 4 หัวข้อที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว “ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆที่พบได้ เช่น ฟันผุ, เหงือกอักเสบ หรือ เหงือกบวม เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ” ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ “การดูแลสุขภาพช่องปาก”
คือการจัดฟันโดยอาศัยเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ที่ทำมาจากพลาสติก ชุดเครื่องมือจะถูกออกแบบมาเฉพาะคนไข้คนนั้นๆ จำนวนชิ้นของเครื่องมือจัดฟันจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายและแผนการรักษาจัดฟัน คนไข้จะต้องเปลี่ยนเครื่องมือเป็นชิ้นถัดไปตามแผนทุกๆ 1-2 สัปดาห์หรือตามที่ทันตแพทย์จัดฟันกำหนด เนื่องจากเป็นเครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ดังนั้นคนไข้จะต้องใส่เครื่องมือให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันและเป็นเวลานาน 20-22 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ฟันเคลื่อนไปตามแผนการที่วางไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเครื่องมือจัดฟันแบบใสนั้นต้องอาศัยวินัยและความรับผิดชอบของตัวคนไข้เองสูงมาก
เป็นการแก้ไขกระดูกขากรรไกรด้วยการผ่าตัดก่อน จากนั้นจึงทำการจัดฟันเพื่อแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติในภายหลัง เพื่อป้องกันลักษณะรูปหน้าที่แย่ลงจาการจัดฟันเพื่อเตรียมการสบฟันก่อนการผ่าตัดขากรรไกรในแบบดั้งเดิม ซึ่งการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดแบบผ่าตัดก่อนมีขั้นตอน และข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกับวิธีแบบจัดฟันก่อนการผ่าตัด (แบบดั้งเดิม) ดังรูป
ได้แก่อาหารแข็งๆ, เหนียวๆ เช่น หมากฝรั่ง, อาหารกรอบๆ เช่นหมูกรอบ, อาหารชิ้นใหญ่ๆ
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่นๆอีกด้วยศึกษาได้จาก vdo
จากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ตรวจสอบกับ ผศ.ทพ.ดร.ชิษณุ แจ้งศิริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
จากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ตรวจสอบกับ อ.ทพ.ธนิต เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
link https://fb.watch/37r0276exg/